จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 218 : บทบาทของครอบครัว (3)

จิตวิทยาผู้สูงวัย-218

      

      การแทรกแซงเพื่อแก้ไขเรื่องของครอบครัว (Family intervention) ระหว่างช่วงวิกฤตในชีวิตผู้สูงวัย อาทิ การย้ายที่อยู่ (Accommodation) มีหลากหลายแบบจำลอง (Model) ซึ่งส่วนมากเป็นการสาธยาย (Descriptive)

      ตัวอย่างเช่น นักวิจัยกลุ่มหนึ่งได้วิเคราะห์แบบจำลอง Double ABCX อย่างละเอียดลออ โดยที่เหตุการณ์ A เป็นสาเหตุของวิกฤตการณ์ B เป็นทรัพยากร (Resource) ครอบครัว เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ ส่วน C เป็นการหยั่งเห็นของครอบครัว (Familial perception) ของวิกฤตการณ์ และ X คือความเครียดที่หยั่งเห็น (Perceived stress)

      ความแปรปรวน (Variation) ใน A, B และ C จะกำหนดระดับรวมของความเครียดที่ครอบครัวและผู้สูงวัยประสบ นักวิจัยอีกลุ่มหนึ่งได้ใช้แบบจำลองนี้ในการอธิบายกลยุทธ์ที่บรรดาปู่ย่าตายายใช้ในการเลี้ยงดู (Rear) หลานๆ ส่วนนักวิจัยอื่นได้สร้างแบบจำลองที่คล้ายกัน ประกอบด้วย ESAMO

      E คือ Event เป็นเหตุการณ์วิกฤต S คือ Stressor เป็นผลกระทบที่อันตราย (Deleterious) จากเหตุการณ์ A คือ Appraisal เป็นกระบวนการที่สมาชิกในครอบครัวที่ดูแลผู้สูงวัย ตัดสินใจขอบเขต (Degree) ที่รู้สึกว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ M คือ Mediator เป็นผู้ที่มีทักษะพร้อมจะช่วยเหลือ (Aid) และดูแล (Care) ส่วน O คือ Outcome เป็นกระบวนการที่กำหนดขอบเขต ซึ่งครอบครัวรู้สึกเครียด และ/หรือ ต้องปรับเปลี่ยน (Adapt) ตามสถานการณ์

      นักวิจัยคนหนึ่งได้พัฒนาการจำแนกประเภท (Typology) ของ 7 สถานการณ์ ซึ่งอธิบายดัชนีชี้วัดสำคัญนานัปการ และนักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้ศึกษาเชิงคุณภาพ (Qualitative) โดยอธิบายบทบาทที่ผู้ดูแลผู้สูงวัยในครอบครัวที่ตนเองหยั่งเห็น (Self-perceived) ในการย้ายผู้สูงวัยเข้าไปอยู่ในบ้านคนชรา

      ข้อแม้ (Caveat) ของข้อสังเกตเหล่านี้ ก็คือหน้าที่ของผู้สูงวัยส่วนใหญ่แล้ว มักตกเป็นภาระของคู่ชีวิต (Spouse) หรือลูกหลาน (Off-spring) ของผู้สูงวัย ดังนั้นผู้ดูแลผู้สูงวัยส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สูงวัยด้วยกัน หรืออย่างน้อยก็อยู่ในวัยกลางคน ซึ่งอาจประสบปัญหาทางร่างกายในการดูแลผู้ป่วย และอาจเกิดอุบัติการณ์ (Incidence) จากสุขภาพที่ไม่แข็งแรง หรืออุบัติเหตุ (Accident)

      การหยั่งเห็น (Perception) ความสามัคคี (Harmony) จะยิ่งมาก ในครอบครัวที่ยิ่งเล็ก นักวิจัยพบว่า สมาชิกของครอบครัวให้คะแนนสูงแก่ญาติที่รู้สึกว่าใกล้ชิด และความสัมพันธ์ที่เป็นปัญหา (Problematic relationship) ก็น้อยลง เป็นที่น่าสนใจว่า ผู้สูงวัยมีแนวโน้มน้อยที่จะรายงานความสัมพันธ์ที่เป็นปัญหา เมื่อเปรียบเทียบกับสมาชิกที่มีอายุน้อยกว่าในครอบครัวเดียวกัน

      สมาชิกในครอบครัวเล็กรู้สึกว่าต้อง (Obliged) พยายามปรับตัวให้เข้า (Get along) กับผู้สูงอายุ ในกรณีที่ไม่มีลูก ผู้สูงวัยจะไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับชั่วอายุคนที่เยาว์วัยกว่า จึงมีความเครียดทางจิตมากกว่าผู้มีลูกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และผู้สูงวัยชายที่ปราศจากคู่ชีวิตแล้ว มักมีระดับความว้าเหว่ (Loneliness) สูง และมักเป็นโรคซึมเศร้า (Depression)

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.
  2. The importance of family support in old age - https://www.degruyter.com/downloadpdf/j/fampe.2014.4.issue-1/fampe-2014-0002/fampe-2014-0002.pdf [2019, June 11].