งีบสักนิด จิตแจ่มใส (ตอนที่ 1)

งีบสักนิดจิตแจ่มใส-1

      

      งานวิจัยจากสวิตเซอร์แลนด์ พบหลักฐานบ่งชี้ว่า การงีบหลับเป็นเวลาสั้น ๆ ในช่วงกลางวัน เพียงสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ ภาวะหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ลงได้เกือบครึ่งหนึ่ง

      งานวิจัยชิ้นนี้เป็นผลงานของทีมนักวิจัยจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโลซานน์ ที่ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความถี่และระยะเวลาในการงีบหลับตอนกลางวันกับความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease)

      ทีมนักวิจัยได้ติดตามเก็บข้อมูลของคนอายุระหว่าง 35 - 75 ปี จำนวน 3,462 คน เป็นเวลากว่า 5 ปี และพบว่าคนที่ชอบงีบหลับตอนกลางวัน เป็นเวลาประมาณ 5 นาทีถึง 1 ชั่วโมง ราว 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ ภาวะหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมอง น้อยลง 48% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่นอนกลางวันเลย

      อย่างไรก็ตาม การศึกษาชิ้นนี้ซึ่งตีพิมพ์ใน Heart วารสารการแพทย์ด้านโรคหัวใจ พบว่าการนอนกลางวันบ่อยและนานเกินไป ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มตามไปด้วย

      การนอนช่วยให้เราพักจากความเครียดและช่วยให้อวัยวะที่สำคัญได้หยุดพัก นั่นคือเหตุผลที่ว่า การนอนไม่พอสามารถมีผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น งานวิจัยที่ผ่านมาได้พบว่า ผู้ที่มีพันธุกรรมไปในทางที่จะเกิดโรคหัวใจสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการนอนให้พอเหมาะ

      อย่างไรก็ดี การนอนที่มากไปหรือน้อยไปก็สามารถทำให้เกิดความเสี่ยงของภาวะหัวใจวายได้

      สถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน (The American Academy of Pediatrics) ได้แนะนำว่า เด็กเกิดใหม่ควรจะนอนวันละ 16 ชั่วโมง ส่วนวัยรุ่นทั่วไปควรนอนวันละ 8-10 ชั่วโมง

      มากกว่าร้อยละ 85 ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะมีการนอนหลับแบบ Polyphasic sleepers หรือการแบ่งให้ตัวเองนอนหลายๆ ครั้งต่อวัน การงีบหลับระหว่างวัน (Nap) ไม่ได้หมายความว่า การนอนตอนกลางคืนไม่ได้คุณภาพ ตรงกันข้ามการนอนงีบหลับประมาณ 20-30 นาที สามารถที่จะช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากกว่า สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้มากกว่าและดีกว่า

      ผู้นำสหรัฐอเมริกาที่สำคัญอย่าง Winston Churchill, John F. Kennedy, Ronald Reagan, Napoleon, Albert Einstein, Thomas Edison และ George W. Bush ก็ล้วนแต่เห็นคุณค่าของการงีบหลับในช่วงบ่ายของวัน

      

แหล่งข้อมูล:

  1. สุขภาพ : นอนกลางวันช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ-หลอดเลือดสมอง. https://www.bbc.com/thai/features-49828876 [2019, November 17].
  2. Napping. https://www.sleepfoundation.org/articles/napping [2019, November 17].
  3. Is Napping Good or Bad for Your Health? https://www.healthline.com/health-news/is-napping-good-or-bad-for-your-health [2019, November 17].