คุยกับหมอรักษามะเร็ง ตอน: การเล่นเน็ทของผู้สูงอายุกับโรคมะเร็ง

ยุคปัจจุบัน คนใช้อินเทอร์เน็ตกันแพร่ จนกลายเป็นสิ่งหนึ่งของชีวิตประจำวัน ไม่เว้นแม้แต่ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เกษียณงานประจำแล้ว จะมีอินเทอร์เน็ตเป็นเพื่อนแก้เหงา ช่วยให้ท่องไปในโลกกว้าง และติดตามในเรื่องที่ตนชอบ รวมทั้งการเพิ่มพูนความรู้ ซึ่งมีการศึกษาเล็กๆจากสหราชอาณาจักรชิ้นหนึ่งที่รายงานในวารสารการแพทย์ Cancer Epidemiology Biomarkers Prevention ในเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2556 โดยที่เป็นการศึกษาในผู้สูงอายุใน สหราชอาณาจักร อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ทั้งหญิงและชาย รวมทั้งหมด 5,943 คน (ไม่มีรายงานว่า เป็นหญิง ชาย อย่างละกี่คน) เป็นการศึกษาในช่วง พ.ศ. 2545- 2554 การศึกษาได้จากการสอบถามบุคคลเหล่านี้ ในเรื่องของการรู้จักการป้องกัน และคัดกรองโรคมะเร็งต่างๆ โดยเฉพาะ มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่ การบริโภคผัก ผลไม้ การออกกำลังกาย การไม่สูบบุหรี่ และการไม่ดื่มสุรา รวมไปถึงปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น ความจำ โดยต้องการศึกษาว่า เรื่องราวต่างๆเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไร

ผลการศึกษาพบว่า 41.4% ผู้ตอบแบบสอบถาม ไม่ใช้อินเทอร์เน็ต, 38.3% ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นครั้งคราว, และ 20.3 % ใช้อินเทอร์เน็ตสม่ำเสมอ

ในการนี้ พบกลุ่มคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตสม่ำเสมอ จะมีอายุน้อยกว่า เป็น ผู้ชาย เป็นชายผิวขาว มีการศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า และจะเป็นผู้รู้จักวิธีกินอาหารที่มีประโยชน์ รู้จักการออกกำลังกาย และรู้จักการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง

จากการศึกษานี้ บอกอะไรที่เราจะนำมาใช้ประโยชน์ได้บ้าง ซึ่งสิ่งที่บอกเราได้ คือ อินเทอร์เน็ต เป็นช่องทางหนึ่งในการให้การศึกษาแก่ผู้สูงอายุ รวมไปถึงในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่รวมถึงโรคมะเร็งด้วย (ด้านการป้องกัน จากการบริโภคอาหาร และสิ่งต่างๆ และจากการออกกำลังกาย รวมไปถึงการตรวจคัดกรองให้พบโรคมะเร็งตั้งแต่ก่อนมีอาการ)

ดังนั้น ถ้าเราร่วมมือกัน ช่วยให้ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคมะเร็ง สามารถเข้าถึงและเรียนรู้การใช้อินเทอร์เน็ต และจัดให้มีเว็บฯ ที่ให้การศึกษาแนะนำด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ ก็น่าจะเป็นช่องทางสำคัญช่องทางหนึ่งที่จะเข้าถึงผู้สูงอายุ และกระตุ้นให้ผู้สูงอายุรู้จักการดูแลตนเอง ลดโอกาสเกิดโรคมะเร็ง และ/หรือลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งในระยะโรคที่รุนแรงที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อผลการรักษาโรคมะเร็ง

เรามาช่วยกัน ส่งเสริมสนับสนุนให้ ผู้สูงอายุที่บ้านของเรา รู้จักและนิยมการใช้อินเทอร์เน็ตกันนะคะ อย่างน้อยให้ท่านได้รู้จักเว็บ haamor.com โดยเฉพาะ เว็บบอร์ด ที่มีแพทย์หลายสาขามาช่วยกันตอบคำถามสุขภาพ เพื่อช่วยเป็นที่ปรึกษาเบื้องต้นในปัญหาสุขภาพของท่านคะ

บรรณานุกรม

Xavier, A. et al. Cancer Epidemiol Biomarkers Prev. (2013). 22, 1-9. (Abstract)

พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์