คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง: สารก่อมะเร็ง อาหาร และฮอร์โมน
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 1 พฤษภาคม 2566
- Tweet
คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง: สารก่อมะเร็ง อาหาร และฮอร์โมน
ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งที่พบบ่อยในกลุ่มปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ คือ สุรา, บุหรี่, การอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อ, สารก่อมะเร็ง, อาหาร, ฮอร์โมน, การมีภูมิคุ้มกัน/ภูมิต้านทานโรคผิดปกติ/ต่ำ, การติดเชื้อบางชนิด, โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน, รังสีต่างๆ, และ แสงแดด
ปัจจัยที่ได้เล่าไปแล้วในตอนก่อนๆ (507,508), คือ สุรา บุหรี่, การอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อ, ครั้งนี้จะเล่าในปัจจัยเสี่ยงเรื่อง สารก่อมะเร็ง, อาหาร, และฮอร์โมน
สารก่อมะเร็ง(Carcinogen):
สารก่อมะเร็ง คือ สารต่างๆในธรรมชาติ หรือที่เป็นสารสังเคราะห์ ทั้งสารอินทรีย์ หรือสารอนินทรีย์ หรือรังสีต่างๆ หรือเชื้อโรคต่างๆ ที่สามารถก่อปฏิกิริยากับดีเอ็นเอ/DNAของเซลล์ในร่างกายคนจนส่งผลให้เซลล์นั้นๆเปลี่ยนแปลงกลายพันธ์ไปเป็นเซลล์มะเร็ง, ตัวแทน องค์การอนามัยโลกด้านการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง International Agency for Research on Cancer ย่อว่า IARC ได้จัดแบ่งสารต่างๆออกเป็น 4 กรุ๊ป (Group) ได้แก่
- กรุ๊ป1: คือสารที่เป็นสารก่อมะเร็งต่อคน คือสามารถทำให้คนเกิดมะเร็งได้ เช่น รังสี/แสงบางชนิดที่รวมถึงแสงแดด, สุรา, บุหรี่, หมากพลู, แร่ใยหิน (Asbestos)
- กรุ๊ป2A: คือ สารที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะก่อมะเร็งในคน (Probably carcinogenic to humans) เช่น ยาเคมีบำบัดบางชนิด, เนื้อแดง, Nitrosamine/สารที่มักใช้หมักดองอาหารบางชนิด เช่น ปลาร้า ไส้กรอก
- กรุ๊ป2B: คือสารที่อาจก่อมะเร็งในคนได้ (Possibly carcinogenic to humans) เช่น ยาบางชนิด, รังสี Radiofrequency (เช่น รังสีจากโทรศัพท์มือถือ, รังสีเอกซ์)
- กรุ๊ป3: คือ ไม่ใช่สารก่อมะเร็ง/ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าก่อมะเร็งได้ในคน เช่น คาเฟอีน เป็นต้น
อาหาร:
อาหารที่มีโอกาส (เช่น เนื้อแดง, Acrylamideที่มีในพืชบางชนิด ที่สารนี้จะกลายเป็นสารก่อมะเร็งเมื่อได้รับความร้อนสูง เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ)ที่จะเป็นสารก่อมะเร็งนั้นมีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นจากสารที่เราเพิ่มเติมเข้าไปในการประกอบ/ปรุงอาหาร เช่น Nitrosamine, แต่เกือบทั้งหมดเกิดจากเราใช้ในปริมาณสูงมากเกินข้อกำหนด และใช้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในการบริโภคอาหารและที่เป็นสารปรุงแต่รสชาติอาหารจึงควรต้องบริโภคในปริมาณจำกัดตามที่ทางการแพทย์แนะนำ (ค่า Acceptable Daily Intake ย่อว่า ADI, คือปริมาณที่บริโภค/วันได้ตลอดชีวิตโดยการศึกษาพบว่ายังไม่มีรายงานเกิดอันตรายต่อชีวิต)
ฮอร์โมน:
ฮอร์โมนที่เกี่ยวเนื่องกับการเกิดมะเร็งจะเป็นฮอร์โมนเพศ ซึ่งที่จัดเป็นสารก่อมะเร็งในคน(กรุ๊ป1) คือ ฮอร์โมนเพศหญิง เอสโตรเจน เช่นต่อการเกิด มะเร็งเต้านม, มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก, มะเร็งต่อมลูกหมาก, แต่ต้องใช้ในปริมาณสูง และต่อเนื่อง มักนานมากกว่า 5ปีขึ้นไป, ดังนั้นการใช้ฮอร์โมนเพศจึงควรเป็นไปเพื่อการรักษาโรค และควรต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้ให้การรักษาเสมอ
* หมายเหตุ: เรื่อง’ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง’มีทั้งหมด 7 ตอนย่อย (506-512), ตอนต่อไป 510 จะเล่าถึง ปัจจัยเสี่ยงฯจาก มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ, และการติดเชื้อ
บรรณานุกรม
- https://www.cancer.gov/about-cancer/causes-prevention/risk [2023,March28]
- https://monographs.iarc.who.int/agents-classified-by-the-iarc/ [2023,March28]