คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน มะเร็งเต้านมและโรคหัวใจและหลอดเลือด

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน มะเร็งเต้านมและโรคหัวใจและหลอดเลือด

ปัจจุบันประสิทธิผลการรักษามะเร็งเต้านมระยะที่โรคยังไม่แพร่กระจายทางกระแสเลือดสูงขึ้นมาก จึงส่งผลให้อัตรารอดทีห้าปีสูงขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่โรคจำกัดเฉพาะที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอัตรารอดที่ 10-15 ปี สูงขึ้นมากโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา, มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะเกิดในสตรีอายุตั้งแต่ 45-50 ปีขึ้นไป ซึ่งประชากรทั่วไปในสหรัฐอเมริกา (ปัจจุบันในเมืองใหญ่บ้านเราก็เช่นเดียวกัน) เป็นกลุ่มที่จะพบโรคหัวใจและหลอดเลือดได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  

คณะนักวิทยาศาสตร์ นักระบาดวิทยา และแพทย์จากมหาวิทยาลัยยูทา สหรัฐอเมริกา นำโดย Alzina Koric นักวิทยาศาสตร์จาก Huntsman Cancer Institute, Salt Lake City, Utah จึงต้องการศึกษาเพื่อให้ทราบว่า การเป็นมะเร็งเต้านมหลังการรักษาในระยะยาว 10 ปีขึ้นไป เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในสตรีกลุ่มอายุดังกล่าวหรือไม่ และได้รายงานผลการศึกษานี้ในวารสารการแพทย์โรคมะเร็งของสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา ชื่อ Cancer ฉบับ 15 กรกฎาคม 2022

รูปแบบการศึกษา คือ  Population-based cohort  จากข้อมูลของทะเบียนมะเร็งของมลรัฐยูทา ช่วง ค.ศ.1997-2009  ซึ่งมีผู้ป่วยสตรีมะเร็งเต้านมที่รอดชีวิตนานอย่างน้อย 10 ปีนับจากวันที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งฯ 6,641 คน เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม คือ ประชากรสตรีทั่วไปที่เกิดในปีเดียวกับผู้ป่วยมะเร็งฯและไม่เคยเป็นมะเร็งชนิดใดๆ 36,612 คนจากข้อมูลของ the Utah Population Database

ผลการศึกษาพบว่า ในผู้ป่วยสตรีมะเร็งเต้านมที่อยู่รอด 10-15 ปี เพิ่มปัจจัยเสี่ยงสูงระดับปานกลางที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อเปรียบเทียบกับสตรีทั่วไปในวัยเดียวกัน (อัตราเสี่ยง/HR=1.32), แต่ปัจจัยเสี่ยงนี้จะไม่เพิ่มขึ้นหลัง 15 ปีขึ้นไปแล้ว, ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดก็จะเช่นเดียวกับสตรีทั่วไป คือ อายุที่มากขึ้น, โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน, ระดับการศึกษาน้อย, และประวัติครอบครัวที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด

คณะผู้ศึกษาสรุปผลจากการศึกษานี้ว่า การเป็นโรคมะเร็งเต้านมหลังการรักษาเป็นปัจจัยเสี่ยงระดับปานกลางในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในสตรีมะเร็งเต้านมฯหลังอยู่รอดนาน 10-15 ปี,  ดังนั้นทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องจึงควรตระหนักและให้การดูแล การป้องกัน และการวินิจฉัยได้รวดเร็ว เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประสิทธิผลจากการรักษามากที่สุด  

บรรณานุกรม

  • Alzina Koric, et al. Cancer 2022; 128(14):2826-2835