คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งของประชากรโลก
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 27 มีนาคม 2566
- Tweet
คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งของประชากรโลก
คณะนักวิทยาศาสตร์และนักระบาดวิทยาจากโรงพยาบาลและสถาบันนานาชาติทั่วโลกที่เกี่ยวกับโรคมะเร็งเกือบทุกประเทศรวมถึงจากองค์การอนามัยโลก มีความเห็นตรงกันว่า การเข้าใจและรับรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งของประชากรทั่วโลกจะช่วยให้เกิดการป้องกันโรคมะเร็งของประชากรโลกอย่างมีประสิทธิผล ดังนั้นจึงร่วมมือกันศึกษาจากประชากรทั่วโลกเพื่อให้ทราบถึงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ โดยใช้ข้อมูลจาก the Global Burden of Diseases, Injuries, and Risk Factors Study 2019 (GBD, สถาบันระหว่างชาติเพื่อศึกษาปัจจัยต่างๆทางสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับประชากรทั่วโลก, สำนักงานใหญ่อยู่ที่สหรัฐอเมริกา)ซึ่งรวมข้อมูลในช่วง 2010-2019, โดยศึกษาข้อมูลจากประชากรโลกที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง และที่มีปัญหาสุขภาพ(Disability-adjusted life-years: DALYs) ที่เกิดจากโรคมะเร็ง, การศึกษานี้นำโดย Khanh Bao Tran และได้ตีพิมพ์การศึกษานี้ในวารสารการแพทย์นานาชาติ ชื่อ The Lancet ฉบับเดือน 20 สิงหาคม 2022
ผลการศึกษาในปี 2019:
- ข้อมูลศึกษาจากประชากรโลกทั้งเพศชายและหญิงที่เสียชีวิต 45ล้านคน , 44.4% เสียชีวิตจากสาเหตุเกี่ยวเนื่องกับโรคมะเร็ง, และผู้มีปัญหาสุขภาพ(105ล้านคน) ผู้ที่สัมพันธ์กับโรคมะเร็ง = 42.0%
- เพศชาย: การเสียชีวิตสาเหตุเกี่ยวเนื่องกับโรคมะเร็ง=50.6%
- เพศหญิง: การเสียชีวิตสาเหตุเกี่ยวเนื่องกับโรคมะเร็ง=36.3%
- ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดในทั้ง2เพศต่อทั้งการเสียชีวิตและต่อปัญหาสุขภาพที่มีสาเหตุเกี่ยวเนื่องจากโรคมะเร็ง คือ การสูบบุหรี่, โดยที่รองลงมา คือ การดื่มสุรา, การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย, และโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน(Metabolic risk factor/โรคเกี่ยวเนื่องจากการใช้พลังงานของร่างกาย คือ กลุ่มโรคเรื้อรังที่ไม่ใช่จากติดเชื้อ/ โรคเอนซีดี/NCD, ที่สำคัญคือ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง)
- อัตราปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับโรคมะเร็งของประเทศต่างๆทั่วโลกจะแตกกันในแต่ละภูมิภาคของโลก, ที่สำคัญ คือ ในด้านเศรษฐกิจและสังคม(Socio-demographic Index: SDI)
คณะผู้ศึกษาสรุปผลการศึกษาว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่เกี่ยวข้องกับอัตราเกิดของโรคมะเร็งของประชากรโลก คือ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน คือ สูบบุหรี่, ดื่มสุรา, การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย, และโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน/โรคเอนซีดี(ซึ่งมีจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละปีของการศึกษา) ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ปัจจัยที่จะป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง ที่รวมถึงปัญหาต่างๆทางสุขภาพที่เกิดจากโรคมะเร็งเป็นปัญหาที่สามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเพียงการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งการร่วมมือกันในระหว่างประเทศต่างๆทั่วโลกเพื่อให้ได้นโยบายที่มีประสิทธิภาพ/ประสิทธิผลร่วมกัน(ที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศ)ก็จะสามารถช่วยลดปัญหาจากโรคมะเร็งลงได้อย่างมีประสิทธิผล
บรรณานุกรม
- Khanh Bao Tran, et al. Lancet 2022; 400: 563–91