คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน รังสีจากโทรศัพท์มือถือ
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 19 มีนาคม 2566
- Tweet
คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน รังสีจากโทรศัพท์มือถือ
รังสีที่ออกจากเครื่องฯขณะการใช้โทรศัพท์มือถือ คือ รังสีในกลุ่ม Non-ionizing radiation ประเภทที่เรียกว่า รังสีอาร์แอฟ/RF (Radiofrequency radiation) คือกลุ่มรังสีในคลื่นของ Radio waves และ Microwaves ซึ่งหน่วยงานด้านการวิจัยเรื่องมะเร็งขององค์การอนามัยโลก (IARC/WHO) :International Agency for Research on Cancer จัดให้เป็นรังสีที่อยู่ในกรุ๊ป 2B (Possibly carcinogenic to humans) หมายถึง กรุ๊ปที่มีความเป็นไปได้ที่สามารถจะก่อให้เกิดมะเร็งในคน
ปัจจุบัน เกือบทุกคนในโลกใช้โทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะในผู้ใหญ่, คณะนักระบาดวิทยาจาก IARC/WHO และจากมหาวิทยาลัย Oxford สหราชอาณาจักร นำโดย ดร. Joachim Schüz จาก IARC/WHO, จึงได้ศึกษาในประชากรครั้งใหญ่จำนวนหลักล้านคน และเป็นการศึกษาแบบล่วงหน้า Prospective study เพื่อศึกษาความเกี่ยวพันธ์ระหว่างการใช้โทรศัพท์มือถือกับเนื้องอกสมอง (ศัพท์นี้ ใช้รวมเนื้องอกชนิดมะเร็ง และเนื้องอกชนิดไม่เป็นมะเร็ง) และได้รายงานการศึกษานี้ในวารสารการแพทย์ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหราชอาณาจักร Journal of the National Cancer Institute ฉบับ พฤษภาคม ค.ศ.2022
โดยผู้ถูกศึกษาเป็นสตรีทั้งหมดจากข้อมูลของ the Million Women Study Collaborators แห่งสหราชอาณาจักรจากการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม (UK National Health Service Breast Screening), เป็นข้อมูลช่วงปีค.ศ. 1996-2001 และติดตามผลเป็นเวลา14ปี, จากจำนวนประชากร1.3ล้านราย แต่ที่สามารถติดตามผลได้ครบถ้วน = 776,156 ราย, การศึกษาใช้วิธีสอบถามข้อมูลแบบ Questionare เป็นระยะๆ และแบ่งผู้ศึกษาเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ไม่ใช้มือถือ และกลุ่มผู้ใช้มือถือ โดยผลการศึกษาพบมีประชากรเกิดเนื้องอกสมอง 3,268 ราย, และในทางสถิติ
- ในเนื้องอกสมองทุกชนิด: ความเสี่ยงสัมพัทธ์/RR (Relative risk, ความเสี่ยงเกิดโรคในผู้สัมผัสปัจจัยเปรียบเทียบกับผู้ไม่สัมผัสปัจจัย)ไม่ต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติทั้งในผู้ใช้มือถือและผู้ไม่ใช้มือถือ, RR = 0.97
- ในเนื้องอกสมองชนิดไกลโอมา/Glioma ซึ่งเป็นชนิดพบบ่อยที่สุดและหลายการศึกษาอื่นๆระบุว่าน่าเป็นชนิดมีความสัมพันธ์กับรังสีชนิด RF, RR = 89, ซึ่งไม่ต่างกันอย่างสำคัญทางสถิตเช่นกัน,
- เมื่อแยกศึกษาถึงตำแหน่งที่เกิดเนื้องอกชนิดนี้ การเกิดเนื้องอกที่สมองส่วนขมับ/Temporal lobe และสมองส่วนด้านข้าง/Parietal lobe (ซึ่งสมองทั้งสองส่วนจะเป็นส่วนได้รับรังสีฯมากที่สุดเพราะจะอยู่ติดโทรศัพท์ในขณะใช้งาน) ก็ไม่ต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติในผู้ศึกษาทั้ง 2 กลุ่ม คือ RR ต่ำกว่า 1 เล็กน้อย
- ในเนื้องอกสองชนิดอื่นๆ: เช่นชนิด เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง/Meningioma, เนื้องอกต่อมใต้สมอง, และเนื้องอกเส้นประสาทหู, การเป็นปัจจัยเสี่ยงก็ไม่ต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติ, RR ต่ำกว่า 0 เล็กน้อย
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า การศึกษานี้สนับสนุนว่า การใช้โทรศัพท์มือถือในกรณีทั่วไปในชีวิตประจำวันไม่เพิ่มอัตราการเกิดเนื้องอกสมอง
ในความเห็นของผู้เขียน: ทุกคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือ ต้องตระหนักเสมอว่า รังสี RFถึงแม้จะยังไม่จัดเป็นสารก่อมะเร็งที่แน่ชัด แต่ก็อยู่ในกลุ่มที่มีโอกาสก่อมะเร็งได้ ดังนั้น องค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับรังสี เช่น IAEA ก็ยังคงให้คำเตือน ‘ให้ใช้อย่างระมัดระวัง’ ขณะใช้(เปิดเครื่อง)ไม่ควรให้โทรศัพท์อยู่ติด/สัมผัสตัว, การพูดคุยด้วยสายหูฟังจะช่วยได้มาก และที่สำคัญที่สุดคือกลุ่มผู้ที่เซลล์ร่างกายทุกส่วนมีความไวต่อรังสี และยังมีโอกาสใช้มือถือได้ต่อเนื่องนานมากกว่า10-20ปีขึ้นไป คือ เด็กจนถึงอายุ18ปี กลุ่มนี้ ผู้ปกครองจึงควรแนะนำดูแล ’ให้ พูดคุย/ใช้มือถือเท่าที่จำเป็น’
บรรณานุกรม
- Joachim Schüz,et al. Journal of the National Cancer Institute 2022, 114(5);704-711