คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ข้อบ่งชี้รักษามะเร็งที่แพร่กระจายสู่สมอง: ตอน2 รังสีรักษา (ตอนจบ)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 31 ตุลาคม 2565
- Tweet
คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ข้อบ่งชี้รักษามะเร็งที่แพร่กระจายสู่สมอง: ตอน2 รังสีรักษา (ตอนจบ)
สมาคมโรคมะเร็งทางคลินิกและทางรังสีรักษาแห่งสหรัฐอเมริกา (ASCO-SNO-ASTRO Guideline) นำโดย นพ. Michael A. Vogelbaum แห่ง Moffit Cancer Center, Tampa, ฟลอริดา, ได้แนะนำแนวทางการรักษาโรคมะเร็งที่แพร่กระจายสู่สมองด้วย การผ่าตัด (ตอน1) และ รังสีรักษา (ตอน2) โดยเผยแพร่คำแนะนำนี้ในวารสารการแพทย์ JCO: Journal of Clinical Oncology ฉบับ 10 กุมภาพันธ์ 2022
ตอน 2: รังสีรักษา:
ก. ผู้ป่วยมีมะเร็งแพร่กระจายมาสมองโดยไม่มีอาการที่สมองซึ่งไม่ควรได้รับการฉายรังสีฯ ได้แก่
- สภาพร่างกายผู้ป่วยแย่ คือ Karnofsky performance status:KPS </=50 หรือ
- KPS<70 และไม่สามารถได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดร่วมด้วย
ข. การฉายรังสีฯที่สมองควรใช้เทคนิครังสีสูงเฉพาะจุด (SRS: Stereotatic radiosurgery)ในกรณีมีโรคที่สมอง 1-4 จุด(ยกเว้นมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก) โดยก้อนมะเร็งที่สมองมีขนาดน้อยกว่า 3 หรือ 4 ซม. ทั้งนี้ไม่มีการให้ยาเมแมนทีน (Memantine) ร่วมด้วย หรือฉายโดยปิดกั้นไม่ให้สมองส่วนฮิปโปแคมพัสได้รับรังสีฯ
ค. การฉายรังสีฯเทคนิครังสีสูงเฉพาะจุดวิธีเดียว ควรใช้กรณี มีมะเร็งแพร่มาสมอง 1-2 จุดที่สามารถผ่าตัดออกได้หมดโดยโรคมะเร็งที่แพร่กระจายณอวัยวะตำแหน่งอื่นสามารถรักษาควบคุมได้ดี
ง. การฉายรังสีฯที่สมองเทคนิครังสีสูงเฉพาะจุด, หรือฉายสมองทุกส่วน,หรือฉายร่วมกันระหว่างฉายรังสีสูงเฉพาะจุด+ฉายสมองทุกส่วน สามารถเป็นวิธีรักษาในกรณีมีมะเร็ง แพร่ฯมาสมองมากกว่า 4 จุด (ที่ผ่าตัดไม่ได้) หรือมะเร็งแพร่มาสมองมากกว่า2จุดที่ผ่าตัดได้โดยผู้ป่วยมีสภาพร่างกายแข็งแรง (KPS>/=70),
จ. ควรเลือกฉายด้วยเทคนิครังสีสูงเฉพาะจุดกรณีผู้ป่วยมีการพยากรณ์โรคที่ดี และ/หรือผู้ป่วยสามารถได้รับยาเคมีบำบัดชนิดมีประสิทธิภาพควบคุมมะเร็งที่สมองได้สูง
ฉ. การให้ยาเมแมนทีน (Memantine) ร่วมด้วย และฉายฯโดยปิดกั้นไม่ให้สมองส่วนฮิปโปแคมพัสได้รับรังสีฯ ควรเป็นเทคนิคเลือกใช้ในผู้ป่วยที่ต้องฉายรังสีคลุมสมองทั้งหมด, ไม่มีมะเร็งแพร่มาที่สมองฮิปโปแคมพัส, และมีการพยากรณ์โรคที่ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตได้นานตั้งแต่4เดือนขึ้นไป
ช. การฉายรังสีที่สมองทุกเทคนิค ไม่ควรให้ยาที่เป็นตัวช่วยให้เซลล์มะเร็งตอบสนองต่อรังสีเพิ่มขึ้น (Radiation-sensitizing agents)
ซ. ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่สรุปได้ว่า ผู้ป่วยที่ควรได้การรักษาที่สมองด้วยรังสีฯร่วมกับผ่าตัด,วิธีใดควรเริ่มก่อนหรือหลังอีกวิธี
บรรณานุกรม
- Michael A. Vogelbaum, et al. J Clin Oncol 2022;40(5):492-516
- https://ascopubs.org/doi/full/10.1200/JCO.21.02314 [2022,Sept26]