คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ความสัมพันธ์ระหว่างวัยที่หมดประจำเดือนกับอัตราการแพร่กระจายของมะเร็งเต้านม
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 5 กันยายน 2565
- Tweet
คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ความสัมพันธ์ระหว่างวัยที่หมดประจำเดือนกับอัตราการแพร่กระจายของมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านมในสตรี เป็นมะเร็งชนิดมีความสัมพันธ์สูงกับภาวะฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายโดยเฉพาะชนิดเอสโตรเจน (ER) รองลงไปคือชนิดโพรเจสเทอโรน (PR) ซึ่งระดับฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายสตรีจะขึ้นกับ สถานภาพของการมีประจำเดือน คือ วัยมีประจำเดือน, วัยใกล้หมดประจำเดือน, และวัยหมดประจำเดือนโดยเฉพาะที่เกิดในอายุน้อย และยังขึ้นกับอายุผู้ป่วยอีกด้วย ซึ่งทั่วไปสตรีมักอยู่ในวัยหมดประจำเดือนในอายุตั้งแต่50ปีขึ้นไป และอายุที่พบเกิดมะเร็งเต้านมบ่อยมักตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไปเช่นกัน ซึ่งในมะเร็งเต้านมสตรี การแพร่กระจายทางกระแสเลือดเป็นปัจจัยสำคัญต่ออัตรารอดชีวิตจากมะเร็งเต้านม
คณะนักวิทยาศาสตร์และแพทย์จากประเทศนิวซีแลนด์ นำโดย ดร. Lao, Chunhuan MSc, PhD จาก Medical Research Centre, University of Waikato, Hamilton,นิวซีแลนด์ จึงต้องการศึกษาว่า สถานภาพของการมีประจำเดือนและอายุผู้ป่วยเมื่อเริ่มเกิดมะเร็งเต้านมเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออัตราการแพร่กระจายของมะเร็งเต้านมทางกระแสเลือดหลังครบการรักษาหรือไม่ และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ Menopause ฉบับประจำเดือนตุลาคม 2021
โดยเป็นการศึกษาผู้ป่วยสตรีมะเร็งเต้านมในระยะโรค 1-3 ที่เกิดมะเร็งฯในช่วงอายุ 45-55 ปี โดยใช้จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งเต้านมของเมือง Auckland and Waikato, นิวซีแลนด์ ซึ่งพบมีผู้ป่วยสตรีมะเร็งเต้านมในระยะโรคและอายุดังกล่าวทั้งหมด 5,309 ราย, 2,799 ราย อยู่ในวัยยังมีระจำเดือน, 929 รายอยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน, และ 1,581 รายอยู่ในวัยหมดประจำเดือน
ผลการศึกษาพบว่า: ที่ 10 ปี
- ปัจจัยด้านสถานภาพของการมีประจำเดือน: อัตราเกิดมะเร็งฯแพร่กระจายทางกระแสเลือดหลังครบการรักษา
- ผู้ป่วยที่มีผลบวก/มีตัวรับฮอร์โมนเพศหญิงของเซลล์มะเร็ง (ER+ และ/หรือ PR+) = 11.2% สำหรับผู้ป่วยวัยมีประจำเดือน, 4% ในผู้ป่วยวัยใกล้หมดประจำเดือน, และ 15.6% ในวัยหมดประจำเดือน, ซึ่งต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติ, Hazard ratio/HR = 1.38
- ปัจจัยด้านอายุ:
- อายุไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการแพร่กระจายทางกระแสเลือดฯในผู้ป่วยกลุ่ม ER+ และ/หรือ PR+
- แต่อายุน้อย จะมีผลอย่างสำคัญทางสถิติในผู้ป่วยกลุ่มเซลล์มะเร็งฯที่ไม่มีตัวรับ ฮอร์โมนเพศหญิงทั้งสองชนิด คือกลุ่ม ER-, และ PR-, Harzard ratio = 0.94
คณะผู้ศึกษาสรุปผลการศึกษาว่า ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะ 1-3 ที่หมดประจำเดือนก่อนวัยถึงแม้จะมี ER+ และ/หรือ PR+ มีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมแพร่กระจายทางกระแสเลือดสูงขึ้น, ส่วนผู้ป่วยอายุน้อยเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดการแพร่กระจายฯเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มมีผล - (ลบ) ทั้ง ER และ PR แต่ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับผู้ป่วย ER+ และ/หรือ PR+
บรรณานุกรม
- Menopause. 2021;28(10):1085-1092 https://journals.lww.com/menopausejournal/Abstract/2021/10000/Impact_of_menopausal_status_on_risk_of_metastatic.4.aspx (abstract) [2022,Aug8]