คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ฉายรังสีรักษาตาโปนในโรคเกรฟส์
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 11 กรกฎาคม 2565
- Tweet
คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ฉายรังสีรักษาตาโปนในโรคเกรฟส์
โรคเกรฟส์ คือ โรคภูมิต้านตนเองต่อต่อมไทรอยด์ พบทั้งเพศหญิงและเพศชายแต่พบในเพศหญิงสูงกว่า อาการสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยคือ มีตาโปนที่มักเกิดทั้ง2ตา การรักษาหลักคือ รักษาควบคุมโรคเกรฟส์ให้ได้ดี ร่วมกับวิธีอื่นๆตามความรุนแรงของอาการ เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์, การฉายรังสีรักษา, การผ่าตัด
คณะแพทย์จากไต้หวันนำโดย แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา นพ. Bo-Yuan Ding จาก Department of Radiation Therapy and Oncology, Shin Kong Wu Ho-Su Memorial Hospital, Taipei จึงต้องการศึกษาถึงประสิทธิผลของการรักษาด้วยการฉายรังสีรักษาปริมาณรังสีต่ำบริเวณเบ้าตาทั้ง2ข้าง และได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ไต้หวัน Therapeutic Radiology and Oncology รวมทั้งทางอินเทอร์เน็ต ฉบับวันที่ 30กันยายน ค.ศ. 2021
เป็นการศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยโรคเกรฟส์ที่มีตาโปนของโรงพยาบาลดังกล่าวในช่วง เมษายน 2007-มีนาคม 2020, ผู้ป่วยทั้งหมด 23ราย, เพศชาย12ราย, เพศหญิง11ราย, อายุอยู่ในช่วง 21-72ปี, ผู้ป่วยได้รับการฉายรังสีด้วยเทคนิค3มิติ 6MV ที่เรียกว่า Conformal radiotherapy(3D CRT)โดยแต่ละตาได้รับรังสีทั้งหมด 10ครั้ง(f)ใน 2 สัปดาห์ ปริมาณรังสีต่อครั้ง=1Gy รวมปริมาณรังสีทั้งหมด=10Gy ผลการศึกษาพบว่า
- ตาโปนลดขนาดลง30%ที่6เดือน, 45%ที่1ปี, และ 56%ที่2ปี
- ตาโปนคงที่ ไม่โตขึ้น 90%ที่6เดือน, 85%ที่ 1ปี, 89%ที่2ปี
- ปัจจัยต่อผลการรักษาที่ดี ได้แก่ มีอาการไม่เกิน6เดือนก่อนฉายรังสีฯ, ไม่สูบบุหรี่, การทำงานของต่อมไทรอยด์ปกติ, เพศหญิง, และมีกล้ามเนื้อตาที่โตกว่าปกติ(ตรวจจาก ซีทีสแกน)ไม่เกิน 6เดือน
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า: การฉายรังสีวิธีเดียวที่เบ้าตาในปริมาณ 10Gy/10F ให้ผลที่ดีในการรักษาควบคุมภาวะตาโปนจากโรคเกรฟส์, และปริมาณรังสีในระดับต่ำนี้มีผลข้างเคียงต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ปริมาณรังสี1.8-2Gy/F, โดยจะควบคุมโรคได้สูงสุดเมื่อให้การฉายรังสีภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนหลังเกิดอาการ
บรรณานุกรม
- Bo-Yuan Ding, et al. Therapeutic Radiology and Oncology 2021;5:15
- https://tro.amegroups.com/article/view/6966/html