คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การฝังเข็มกับการดูแลรักษาโรคมะเร็ง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-424

      

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การฝังเข็มกับการดูแลรักษาโรคมะเร็ง

ปัจจุบัน การแพทย์ทั่วโลกรู้จักและยอมรับถึงความปลอดภัยของการฝังเข็มรักษาอาการและโรคต่างๆ ซึ่งในการดูแลรักษาโรคมะเร็งในสหรัฐอเมริกา มีการนำการแพทย์สนับสนุนและการแพทย์ทางเลือกเข้ามาเป็นวิธีรักษาหนึ่งในการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งโดยมีรายงานสูงถึง48%-83% โดยเฉพาะการฝังเข็ม และรายงานจากสหรัฐอเมริกาเช่นกันพบว่าผู้ป่วยมะเร็งเลือกใช้การฝังเข็มในการบรรเทาอาการต่างๆของโรคมะเร็งและ/หรือของผลข้างเคียงจากการรักษา ประมาณ1.7%-31%

การศึกษาทางการแพทย์ต่างๆที่ศึกษาถึงประสิทธิผลของการฝังเข็มที่รวบรวมและรายงานโดยคณะนักวิทยาศาสตร์และคณะแพทย์จากสหรัฐอเมริกานำโดย Weidong Lu จาก Harvard Medical School, Boston, Massachusetts ที่ได้รวบรวมงานวิจัยที่เชื่อถือได้ในเรื่องการฝังเข็มในผู้ป่วยมะเร็งในช่วงปี ค.ศ. 2001-2007 ซึ่งการศึกษานี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Hematol Oncol Clin North Am. 2008 Aug;22(4):631-48 ตัวอย่าง เช่น

  • ลดอาการคลื่นไส้-อาเจียนจากยาเคมีบำบัด, ศึกษาแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบผู้ป่วย2กลุ่ม (RCT)รวมทั้งหมด739ราย(ส่วนใหญ่เป็นมะเร็งเต้านม): ผลคือ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการฝังเข็มเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนน้อยกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับการฝังเข็มอย่างสำคัญทางสถิติ, pน้อยกว่า0.05, และไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงจากการฝังเข็ม
  • ลดอาการปวดเรื้อรังที่เกิดหลังการรักษามะเร็ง: ศึกษาผู้ป่วย90ราย แบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบผู้ป่วย2กลุ่ม: ผลคือ ที่2 เดือนหลังรักษา กลุ่มได้รับการฝังเข็มความรุนแรงของอาการปวดลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างสำคัญทางสถิติ,pน้อยกว่า0.0001 และไม่พบผลข้างเคียงจากการฝังเข็มที่รวมถึงแผลฝังเข็มติดเชื้อ
  • อาการร้อนวูบวาบหลังการรักษาในมะเร็งเต้านม 72ราย ศึกษาแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบผู้ป่วย2กลุ่ม: ผลคือ ผู้ป่วยฝังเข็มเกิดร้อนวูบวาบน้อยกว่ากลุ่มควบคุม, p=0.3, ผลข้างเคียงพบเลือดออกบ้างเล็กน้อยและบางรายมีห้อเลือดที่รอยแผลฝังเข็ม
  • อาการอ่อนเพลีย/อ่อนล้าต่อเนื่องหลังการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ศึกษาในผู้ป่วยเคมีบำบัด37ราย เป็นการศึกษาล่วงหน้าแบบไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบ: พบผู้ที่อาการดีขึ้นหลังฝังเข็ม 31.3% และไม่พบผลข้างเคียงจากกการฝังเข็ม
  • อาการปากคอแห้งจากรังสีรักษา ศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะลำคอที่ได้รับการฉายรังสีรักษา 50 รายซึ่งไม่ตอบสนองต่อยาเพิ่มน้ำลายPilocarpine โดยเป็นการศึกษาล่วงหน้าแบบไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบ: ผลพบว่า อาการปากคอแห้งดีกว่าก่อนฝังเข็ม 70% และไม่พบผลข้างเคียงจากการฝังเข็ม

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า การฝังเข็มเป็นอีกวิธีที่น่าสนใจในการนำมาช่วยดูแลรักษาผลข้างเคียงจากวิธีรักษามะเร็งในปัจจุบัน ผลการศึกษาทุกการศึกษาให้ผลตรงกันว่า การฝังเข็มเป็นวิธีที่ปลอดภัยเมื่อให้การรักษาโดยแพทย์ ซึ่งสมควรที่แพทย์โรคมะเร็งจะให้ความสนใจและมีการศึกษาอย่างจริงจังถึงประโยชน์ที่ผู้ป่วยมะเร็งจะได้รับจากการฝังเข็ม โดยศึกษาในจำนวนผู้ป่วยที่มากพอทางสถิติ และต้องเป็นการศึกษาแบบล่วงหน้า เปรียบเทียบผู้ป่วย2กลุ่มโดยการสุ่มตัวอย่าง ระหว่างผู้ที่ได้และไม่ได้รับการฝังเข็ม

แหล่งข้อมูล:

  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2642987/ [2021,Aug4]