คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การรักษามะเร็งแพร่กระจายที่ต่อมหมวกไตด้วยรังสีรักษา

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-421

      

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การรักษามะเร็งแพร่กระจายที่ต่อมหมวกไตด้วยรังสีรักษา

มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ต่อมหมวกไตเองพบน้อยมาก ส่วนใหญ่มะเร็งพบที่ต่อมหมวกไตจะแพร่กระจายมาจากมะเร็งของอวัยวะอื่นๆ(มะเร็งระยะที่4)โดยเฉพาะจาก มะเร็งปอด และมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งมะเร็งที่แพร่กระจายมาต่อมหมวกไต มีรายงานพบได้ประมาณ 30%ของผู้ป่วยมะเร็งซึ่งสมัยก่อนมักพบจากการตรวจศพผู้ป่วยมะเร็งเพราะทั่วไปมะเร็งที่แพร่กระจายมาต่อมหมวกไตมักไม่ก่ออาการ แต่ปัจจุบันจากวิธีตรวจโรคด้วยซีทีสแกน/เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอทำให้แพทย์ตรวจพบมะเร็งแพร่กระจายมาต่อมหมวกไตบ่อยขึ้น และในหลายผู้ป่วยที่แพทย์จำเป็นต้องให้การรักษา ซึ่งทั่วไปการรักษามักเป็นยาเคมีบำบัด การผ่าตัดจะใช้ต่อเมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่มากจนก่ออาการ อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยมะเร็งระยะ4 ผู้ป่วยมักมีสุขภาพที่ไม่สามารถรับการรักษาด้วยการผ่าตัดใหญ่ได้ นอกจากนั้นหลายรายไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด ซึ่งปัจจุบัน เทคนิคการฉายรังสีรักษา3มิติช่วยให้การฉายรังสีมีประสิทธิผลสูงขึ้นมาก สามารถให้ปริมาณรังสีได้สูงมากที่จะช่วยเพิ่มการควบคุมมะเร็งได้ดีขึ้น ร่วมกับเทคนิคนี้สามารถจำกัดรังสีฯต่ออวัยวะข้างเคียงได้ดีจึงส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่น้อยลงมาก ซึ่งเทคนิคนี้ได้แก่ เทคนิคการฉายรังสีรักษาที่เรียกว่า Stereotactic body radiation therapy ย่อว่า SBRT/ เอสบีอาร์ที

คณะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา นำโดย นพ. William C. Chenแพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาจาก Department of Radiation Oncology, University of California San Francisco, California จึงต้องการศึกษาถึงประสิทธิผลด้านการควบคุมโรคและผลข้างเคียงของการฉายรังสีรักษาเทคนิคเอสบีอาร์ที/SBRTในการรักษามะเร็งที่แพร่กระจายมาต่อมหมวกไต และได้รายงานผลการศึกษานี้ในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง International Journal of Radiation Oncology Biology &Physics ฉบับ 1 พฤษภาคม 2020

การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบร่วมกับการวิเคราะห์ อภิมาน (systematic review and pooled meta-analysis) โดยเป็นการทบทวนวรรณกรรม/การศึกษาต่างๆจากระบบรายงานของ Embase and PubMed databases ในช่วง 2009-2019 ที่มีการศึกษาในเรื่องนี้ทั้งหมด39การศึกษา จำนวนผู้ป่วยทั้งหมด1,006ราย โดยมีระยะเวลากึ่งกลางในการติดตามผู้ป่วย(median follow-up) = 12 เดือน, ปริมาณรังสีกึ่งกลาง(median biological equivalent dose BED10)= 67 Gy ซึ่งสรุปได้ผลการศึกษาดังนี้

• ผู้ป่วยที่ก้อนมะเร็งเล็กลง=54.6%

• อัตราการควบคุมก้อนมะเร็งไม่ให้โตขึ้นที่ 1 ปี=82%, ที่ 2 ปี=63%

• อัตรารอดชีวิตที่ 1 ปี=66%, ที่ 2 ปี=42% และขึ้นกับปริมาณรังสีที่ใช้ ยิ่งสูงยิ่งมีอัตรารอดสูงอย่างสำคัญทางสถิติที่ 2-year (P = .03).

• อัตราการควบคุมก้อนมะเร็งไม่ให้โตขึ้น ขึ้นกับปริมาณรังสีที่ใช้รักษาอย่างสำคัญทางสถิติ ยิ่งปริมาณรังสีสูง อัตราควบคุมก้อนมะเร็งฯยิ่งสูง ทั้งที่ 1 ปี (P น้อยกว่า .0001), และที่ 2ปี(P = .0002)

• การควบคุมขนาดก้อนมะเร็งไม่ให้โตขึ้น ขึ้นกับปริมาณรังสี ยิ่งสูงยิ่งควบคุมโรคได้ดี

      o ที่ 1 ปี: ปริมาณรังสี BED10 ของ 60Gy ควบคุมขนาดก้อนมะเร็งฯได้ 70.5%, 80Gy ควบคุมขนาดก้อนมะเร็งได้=84.8%, ขนาด100Gy ควบคุมก้อนมะเร็งได้ 92.9%

      o ที่ 2 ปี: ปริมาณรังสี BED10 ของ 60Gy ควบคุมขนาดก้อนมะเร็งฯได้ 47.8%, 80Gy ควบคุมขนาดก้อนมะเร็งได้=70.1%, ขนาด100Gy ควบคุมก้อนมะเร็งได้ 85.6%

• ผลข้างเคียงที่รุนแรง(ตั้งแต่ grade3 ขึ้นไป)=1.8%

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า การรักษามะเร็งที่แพร่กระจายมายังต่อมหมวกไตด้วยการฉายรังสีรักษาเทคนิคเอสบีอาร์ที/SBRTให้ผลควบคุมก้อนมะเร็งได้ดีในระยะเวลา 1 ปี, ผลการควบคุมโรคขึ้นกับปริมาณรังสี ยิ่งมากยิ่งควบคุมโรคได้สูง, และผลข้างเคียงจากการรักษาค่อนข้างต่ำ ดังนั้นเพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้อย่างเป็นมาตรฐานจึงสมควรที่จะมีการศึกษายืนยันเรื่องนี้ในรูปแบบของการศึกษาแบบล่วงหน้า(Prospective study)

แหล่งข้อมูล:

  1. International Journal of Radiation Oncology Biology and Physics 2020;107(1):48-61 (abstract)
  2. https://radiopaedia.org/articles/adrenal-metastases [2021,Aug4]