คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปฏิกิริยาแอปสโคปาลจากรังสีรักษา
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 9 สิงหาคม 2564
- Tweet
ปฏิกิริยาแอปสโคปาล(Abscopal effect)เป็นคำที่นักวิทยาศาสตร์ด้านชีวรังสีชาวอเมริกัน ชื่อ R.H. Mole เรียกปฏิกิริยาที่เขาพบ(ค.ศ. 1953)ที่เกิดในหนูทดลองที่เป็นมะเร็งระยะแพร่กระจาย ซึ่งเมื่อเขาฉายรังสีรักษาที่ก้อนมะเร็งเพียงจุดเดียว แต่พบว่าเกิดการลดขนาดลงของก้อนมะเร็งก้อนอื่นๆทั่วร่างกายหนู โดย ‘Abscopal’ มาจากภาษาลาติน หมายถึง ‘ไกลออกไปจากเป้าหมาย’ ปฏิกิริยานี้พบได้น้อยมากๆในการรักษามะเร็งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีเพียงรายงานผู้ป่วยประปรายและพบเกิดในมะเร็งบางชนิดเท่านั้น เช่น มะเร็งไฝ(เมลาโนมา), มะเร็งเต้านม , มะเร็งปอด, มะเร็งตับ, มะเร็งมีโซทีลิโอมา, มะเร็งไทโมมา ซึ่งนักชีวรังสีและแพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาเชื่อว่าเป็นปฏิกิริยาที่น่าเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่อเซลล์มะเร็งที่ถูกทำลายด้วยรังสี
ปัจจุบัน วิชาการด้านภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย รวมทั้งการศึกษาที่นำภูมิคุ้มกันมาใช้เป็นยารักษาโรคที่รวมถึงโรคมะเร็ง(Cancer Immunotherapy)ก้าวหน้าขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้ปฏิกิริยานี้กลับมาสู่ความสนใจของนักวิทยาศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ๆค้นพบจากการศึกษาในสัตว์ทดลองว่า การใช้ยาภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า Immune checkpoint inhibitor ร่วมกับการฉายรังสีรักษาเฉพาะที่จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันจากร่างกายชนิดที่ทำลายเซลล์มะเร็งที่เกิดในตำแหน่งอื่นๆได้ที่เรียกว่า Abscopal effect จนน่าจะนำมาพัฒนาเป็นการรักษามะเร็งระยะแพร่กระจายเพื่อลดการใช้ยาเคมีบำบัดลง ซึ่งนอกจากยากลุ่มนี้แล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าแบคทีเรียบางชนิดก็ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันมะเร็งที่เกิดจากการฉายรังสีรักษาให้สูงขึ้นเป็นอย่างมากได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การศึกษาเหล่านี้ยังเพิ่งเริ่มต้น และอยู่ในระดับสัตว์ทดลอง แต่ก็เป็นความหวังไม่ใช่ความฝันสำหรับการรักษาควบคุมมะเร็งระยะแพร่กระจายซึ่งเป็นสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งถ้าการศึกษาได้รับความสำเร็จนอกจากเพิ่มอัตรารอดของผู้ป่วยมะเร็งแล้ว ยังสามารถลดผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดที่เป็นการรักษาหลักในมะเร็งระยะแพร่กระจายในปัจจุบันลงได้อีกด้วย ดังนั้นจึงจะเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิผล
แหล่งข้อมูล: