ผลการให้ยาเคมีบำบัดเสริมหลังการรักษาหลักด้วยรังสีรักษาพร้อมกับยาเคมีบำบัดในมะเร็งปากมดลูก
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 14 มิถุนายน 2564
- Tweet
วิธีมาตรฐานที่ใช้รักษามะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามรุนแรงเฉพาะที่คือ ให้การรักษา พร้อมกันระหว่างรังสีรักษาและยาเคมีบำบัด(Cisplatinum-based) แต่เนื่องจากผลการรักษายังไม่น่าพอใจนัก คณะแพทย์จากประเทศจีน นำโดยแพทย์ด้านโรงมะเร็ง L.Kou จาก Department of oncology, the First Affiliated Hospital of Chongqing Medical University, Chongqing, China จึงต้องการศึกษาว่า เมื่อให้การรักษาเพิ่มเติมด้วยยาเคมีบำบัด(Cisplatinum-based)หลังให้การรักษามาตรฐานครบแล้วจะเพิ่มประสิทธิผลการรักษาหรือไม่, รวมทั้งผลข้างเคียงจะเป็นอย่างไร, และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์โรคมะเร็งสหรัฐอเมริกา The International Journal of Radiation Oncology Biology & Physics เมื่อ 1 พย. 2020
ทั้งนี้เป็นการศึกษาแบบย้อนหลังในผู้ป่วยจีนมะเร็งปากมดลูกของโรงพยาบาลดังกล่าวทั้งหมด 375คน ในช่วง พค.2013-พค.2018 โดยเป็นมะเร็งฯระยะ2A-3B ทั้งนี้แบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มได้รับการรักษาวิธีมาตรฐาน+การได้รับยาเคมีบำบัดเพิ่มเติมหลังครบการรักษามาตรฐาน(262ราย) เปรียบเทียบกับกลุ่มได้รับการรักษาเพียงวิธีมาตรฐาน(113ราย)
ผลการศึกษาพบว่า:
• ผู้ป่วยทั้งหมดมีระยะกลาง(median follow-up time)ในการติดตามโรค=40เดือน(ช่วง5-73เดือน)
o อัตรารอดชีวิต(OS)ไม่ต่างกันทางสถิติทั้ง2กลุ่ม, 88.5% vs. 90.3% (P = 0.904)
o อัตราปลอดโรคลุกลาม(PFS)ไม่ต่างกันทางสถิติทั้ง2กลุ่ม, 83.2% vs. 87.6% (P = 0.374)
• อัตรารอดที่1ปี ไม่ต่างกันทางสถิติทั้ง2กลุ่ม, 97.3% vs. 94.7% (P = 0.195)
• อัตรารอดที่ 3ปี ไม่ต่างกันทางสถิติทั้ง2กลุ่ม, 90.2% vs. 88.4% (P = 0.694)
• อัตราปลอดโรคลุกลามที่1ปี ไม่ต่างกันทางสถิติทั้ง2กลุ่ม, 92% vs. 94.7% (P = 0.371)
• อัตราปลอดโรคลุกลามที่3ปี ไม่ต่างกันทางสถิติทั้ง2กลุ่ม, 87.5% vs. 85.5% (P = 0.761)
• ผลข้างเคียงจากการรักษาที่รุนแรง(grade3,4): พบสูงกว่าในกลุ่มที่ได้รับยาเคมีบำบัดเพิ่มเติมหลังครบการรักษามาตรฐาน, และที่มีความสำคัญทางสถิติคือ ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำและภาวะเม็ดเลือดแดงต่ำ(P น้อยกว่า 0.05)
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า: ในมะเร็งปากมดลูกระยะโรคลุกลามรุนแรงเฉพาะที่ การให้ยาเคมีบำบัดเพิ่มเติมหลังครบการรักษามาตรฐานไม่เพิ่มอัตราอยู่รอด, หรืออัตราปลอดโรคลุกลาม แต่เพิ่มผลข้างเคียงรุนแรง ดังนั้นจึงควรเลือกใช้ในผู้ป่วยเป็นรายๆไปเฉพาะผู้ที่ตอบสนองได้ไม่ดีต่อการรักษามาตรฐาน
แหล่งข้อมูล:
- International Journal of Radiation Oncology Biology&Physics 2020; 2020;108(3);s51-s52