คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยต่อผลการรักษามะเร็งทวารหนัก

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-410

      

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การรักษามะเร็งตับด้วยรังสีรักษา

มะเร็งทวารหนักเป็นมะเร็งพบน้อย มะเร็งนี้ส่วนใหญ่เป็นเซลล์มะเร็งชนิด สะแควมัสเซลล์คาร์ซิโนมา(Squamous cell carcinoma) ส่วนน้อยเป็นชนิด อะดีโนคาร์ซิโนมา (อะดีโนคาร์ซิโนมา) แต่ปัจจุบันพบมะเร็งกลุ่มนี้ได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต ในสหรัฐอเมริกาค.ศ.2011-2015รายงานพบมะเร็งทวารหนัก1.8รายต่อประชากรสหรัฐ 1แสนคน ส่วนในประเทศไทยรายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ค.ศ. 2018 พบในเพศชาย0.3รายต่อชายไทย1แสนคน และในเพศหญิงพบ0.2รายต่อหญิงไทย1แสนคน

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดมะเร็งทวารหนักคือ ผู้ป่วยเอชไอวี, ผู้ป่วยติดเชื้อเอชพีวีที่ทวารหนัก, ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ, ผู้ชายที่เพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก, ซึ่งวิธีรักษาหลักของมะเร็งนี้คือ การฉายรังสีรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัด

คณะแพทย์โรคมะเร็งจากคาลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นำโดย นพ. Matthew Susko แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาจาก Department of Radiation Oncology, University of California, San Francisco, California, USA ต้องการทราบถึงปัจจัยที่มีผลต่อการรักษามะเร็งทวารหนักชนิดสะแควมัสเซลล์คาร์ซิโนมา และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์โรคมะเร็ง The Oncologist ฉบับเดือน กันยายน 2020

การศึกษานี้ เป็นการศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยมะเร็งทวารหนักชนิดสะแควมัสฯที่ระยะโรคยังจำกัดเฉพาะทวารหนักจากสถาบันการแพทย์ดังกล่าวในช่วง 1มกราคม 2005-1พฤษภาคม 2018

• มีผู้ป่วยที่ศึกษาทั้งหมด 111ราย ค่ากึ่งกลางของอายุ(median age=56.7ปี, IQR ช่วง51.5-63.5ปี), 52ราย(46.8%)เป็นผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี(HIV+)ร่วมด้วย, ที่เหลือไม่ติดเชื้อ(HIV-)

• ระยะกึ่งกลางติดตามผู้ป่วย(median follow-up time)=28 เดือน

• ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดได้รับการฉายรังสีรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัดโดยเป้าหมายของการรักษาคือ รักษาเพื่อหายขาด

• อัตราปลอดโรคย้อนกลับเป็นซ้ำที่ทวารหนัก(Freedom from local recurrence)หลังรักษา ที่2ปี=78.2%, ที่5ปี=74.6%

• การวิเคราะห์พหุตัวแปร (Multivariate analysis):พบว่า

      o ระยะเวลากึ่งกลาง(median time)ระหว่างวันที่วินิจฉัยโรคได้จนถึงวันเริ่มการรักษานานตั้งแต่ 8 สัปดาห์ขึ้นไป เป็นปัจจัยที่มีผลลดอัตราปลอดโรคย้อนกลับเป็นซ้ำที่ทวารหนักและลดอัตรารอดชีวิต(Overall survival), p=0.027

      o ผู้ป่วยกลุ่มติดเชื้อเอชไอวีที่หลังรักษามะเร็งฯมีค่าเซลล์ซีดีโฟร์(CD4)น้อยกว่า150 เซลล์/mm3เป็นปัจจัยสำคัญลดอัตรารอดชีวิต(p=0.015)

      o ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี(HIV+)เป็นปัจจัยที่มีแนวโน้มลดอัตราปลอดโรคย้อนกลับเป็นซ้ำที่ทวารหนัก p=0.06

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า ปัจจัยสำคัญทางสถิติที่ลดประสิทธิผลการรักษาเพื่อการหายขาดในมะเร็งทวารหนักชนิดสะแควมัสเซลล์คาร์ซิโนมา คือ HIV+, เริ่มการรักษาล่าช้าหลังการวินิจฉัยโรคได้, และผู้ป่วยที่ติดเอชไอวีร่วมด้วยที่มีค่าเซลล์ซีดีโฟร์ต่ำหลังการรักษา

แหล่งข้อมูล:

  1. Imsamran, W. et al. (2018). Cancer in Thailand vol ix, 2013-2015, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  2. The Oncologist 2020;25:772–779