คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน มะเร็งอัณฑะชนิดพบยาก Sertoli cell tumor

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-406

      

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน มะเร็งอัณฑะชนิดพบยาก Sertoli cell tumor

มะเร็งอัณฑะชนิด Sertoli cell tumor เป็นมะเร็งอัณฑะที่เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพันของอัณฑะ เป็นมะเร็งพบน้อยมากประมาณ1%ของมะเร็งอัณฑะทั้งหมด พบได้ทุกอายุ

คณะแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะชายและแพทย์โรคมะเร็งจากประเทศสวิทเซอร์แลนด์ นำโดย นพ. Josias Grogg แห่ง Departments of Urology and Oncology, and Institute of Pathology and Molecular Pathology, University Hospital, University of Zurich, Zurich, Switzerland จึงต้องการศึกษาถึงมะเร็งนี้จากทั่วโลก และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ The Oncologist ฉบับเดือน กรกฎาคม 2020

การศึกษาโดยรวบรวมรายงานโรคนี้จากวารสารการแพทย์ต่างๆจากอินเทอร์เน็ทช่วงก่อน 5 พฤษภาคม 2018 พบผู้ป่วยโรคนี้ที่มีข้อมูลสามารถนำมาศึกษาครั้งนี้ได้ทั้งหมด 435ราย อายุอยู่ในช่วง 0.8-86 ปี อายุกึ่งกลาง(median age)=29ปี

• อาการส่วนใหญ่คือมีก้อนที่อัณฑะหรืออัณฑะมีขนาดโตขึ้นผิดปกติโดยอาจร่วมกับมีอาการปวดที่อัณฑะและอาจร่วมกับมีเต้านมโตผิดปกติ

• พบมีโรคแพร่กระจายตั้งแต่แรก50ราย อวัยวะที่แพร่กระจายสูงสุดคือ ต่อมน้ำเหลืองรอบหลอดเลือดแดงในช่องท้อง(76%), ปอด(36%), กระดูก(16%)

• โรคย้อนกลับเป็นซ้ำหลังรักษาน้อยกว่า1%หลังรักษาด้วยผ่าตัดวิธีการเดียว โดยการย้อนกลับเป็นซ้ำที่ระยะกึ่งกลางหลังรักษา=12เดือน

• ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดการแพร่กระจาย คือ

      o อายุตั้งแต่ 27.5 ปีขึ้นไป

      o ก้อนมะเร็งมีขนาด ตั้งแต่ 24 มม.ขึ้นไป

      o มีเนื้อตายเกิดในก้อนมะเร็ง

      o เซลล์มะเร็งลุกลามออกนอกอัณฑะ

      o เซลล์มะเร็งรุกรานหลอดเลือดและท่อน้ำเหลือง

      o และเซลล์มะเร็งแบ่งตัวสูง

• ผู้ป่วยที่มีโรคแพร่กระจายแล้วมีระยะกึ่งกลางเวลาอยู่รอด(median life expectancy)=20เดือน

• การศึกษาไม่สามารถประเมินถึงประสิทธิผลของวิธีรักษาได้ เพราะการรักษามีหลากหลายวิธีมาก แต่พบผลการย้อนกลับเป็นซ้ำที่อัณฑะต่ำหลังรักษาด้วยการผ่าตัดที่อัณฑะ

• การรักษามะเร็ง ณ ตำแหน่งแพร่กระจายด้วยการผ่าตัดให้ผลควบคุมโรคได้ดีกว่ารักษาด้วยยาเคมีบำบัด และ/หรือ การฉายรังสีรักษา

ผู้เขียน: การศึกษานี้ให้ความรู้ด้านธรรมชาติของโรคนี้ได้ในระดับหนึ่งโดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงต่อการมีโรคแพร่กระจาย

แหล่งข้อมูล:

  1. Oncologist 2020;25:585–590