คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผมร่วงถาวรจากยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 12 เมษายน 2564
- Tweet
มะเร็งเต้านมในเพศหญิงเป็นมะเร็งพบบ่อยลำดับ1ของมะเร็งเพศหญิงทั้งหมดในประเทศที่เจริญแล้วและในประเทศไทย วิธีรักษาหลักเป็นการใช้หลายวิธีร่วมกันตามขอบ่งชี้การรักษาทางการแพทย์ ได้แก่ การผ่าตัด ยาเคมีบำบัด รังสีรักษา ยาฮอร์โมน และยาในกลุ่มยารักษาตรงเป้า
ผลข้างเคียงสำคัญของยาเคมีบำบัดที่ส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย คือ ผมร่วง ที่โดยทั่วไปเป็นผมร่วงชั่วคราว แต่ก็มีรายงานพบผมร่วงถาวรได้ คณะแพทย์จากประเทศเกาหลีใต้นำโดย นพ. Danbee Kang จาก Samsung Comprehensive Cancer Center, เซอูล เกาหลีใต้จึงต้องการทราบถึงสถิติเกิดผมร่วงถาวรในผู้ป่วยหญิงมะเร็งเต้านมที่ได้ยาเคมีบำบัด และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง ‘The Oncologist’ ฉบับ 2019;24414-20
การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบ การศึกษาจากเหตุไปหาผลแบบไปข้างหน้า(Prospective cohort study)ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพศหญิงจากศูนย์มะเร็งเต้านม โรงพยาบาล Samsung Comprehensive Cancer Center, เซอูล ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปและเป็นมะเร็งฯระยะ1-3ที่ได้รับยาเคมีบำบัดหลากหลายชนิดตามวิธีการรักษาของโรงพยาบาลนี้ โดยเป็นผู้ป่วยในช่วง กุมภาพันธ์2012-กรกฎาคม 2013 รวมทั้งหมด 63ราย ซึ่งผู้ป่วยทุกรายไม่มีโรคอื่น หรือใช้ยาอื่น ที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดผมร่วงได้ ได้แก่ มีประวัติผมร่วงมาก่อน, ไม่เป็นโรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ, ไม่มีโรคผิวหนังชนิดผื่นภูมิแพ้, ไม่เป็นโรคสะเก็ดเงิน, ไม่ใช้ยาสเตียรอยด์, ยาแก้แพ้, ยาต้านเศร้า, หรือยากันชัก และผู้ป่วยทุกรายได้รับการตรวจคุณภาพผมก่อนการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
ทั้งนี้ ภาวะผมร่วงในการศึกษานี้หมายรวมถึง ผมร่วงทั้งศีรษะ, ปริมาณเส้นผมน้อย, เส้นผมบาง, สีผมอ่อนผิดปกติรวมถึงผมหงอกขาวหรือเทา
ผลการศึกษาพบว่า:
• พบผู้ป่วยมีผมร่วงนาน 6 เดือนใน 39.5%ของผู้ป่วย, นาน 3ปี= 42.3% ซึ่งที่พบบ่อยคือ ผมที่ขึ้นใหม่ผิดปกติไปจากเดิม
• ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดกลุ่ม Taxane พบอัตราเกิดผมร่วงถาวรสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับยาเคมีบำบัดชนิดอื่น
• ที่3 ปีหลังรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
o พบเกิดปริมาณเส้นผมบางมากที่สุด=75.0%
o ปริมาณเส้นผมน้อย 53.9%
o ผมยังร่วงจนถึงหัวล้าน 34.6%
o ผมหงอก 34.6%
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า อัตราเกิดผมร่วงถาวรในผู้ป่วยหญิงมะเร็งเต้านมที่ได้รับยาเคมีบำบัด พบได้บ่อย แพทย์ผู้รักษาควรตระหนักในเรื่องนี้เพื่อหาทางดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย เพราะผลข้างเคียงนี้กระทบต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วย
แหล่งข้อมูล:
- The Oncologist 2019;24:414-420