ผลข้างเคียงต่อหัวใจที่ระยะ20ปีจากการฉายรังสีรักษามะเร็งเต้านมที่ผ่าตัดรักษาแบบเก็บเต้านม(BCS)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 22 มีนาคม 2564
- Tweet
มะเร็งเต้านมระยะแรก(ระยะ1,2)ที่ยังไม่มีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง การรักษาหลักในประเทศตะวันตก คือ การผ่าตัดรักษาแบบเก็บเต้านม(Breast conserving surgery ย่อว่า BCS) และแพทย์หลายท่านนิยมรักษาต่อเนื่องด้วยการฉายรังสีรักษาทั้งเต้านมด้านผ่าตัดและอาจร่วมกับการให้ฮอร์โมนกรณีเซลล์มะเร็งตอบสนองต่อยาฮอร์โมน แต่แพทย์หลายท่านก็ไม่นิยมรักษาต่อเนื่องด้วยรังสีรักษาและอาจให้ยาฮอร์โมนกรณีเป็นเซลล์มะเร็งชนิดตอบสนองต่อยาฮอร์โมน ทั้งนี้จากการศึกษาด้วยวิธีศึกษาย้อนหลัง, หรือ meta- analysis(การวิเคราะห์อภิมาน)พบว่า การฉายรังสีฯครอบคลุมทั้งเต้านมจะส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อหัวใจจนส่งผลให้เกิดโรคหัวใจในระยะยาวโดยเฉพาะในมะเร็งเต้านมด้านซ้ายที่อยู่ติดหัวใจ
คณะนักวิทยาศาสตร์และแพทย์จากประเทศสวีเดนนำโดย ดร. Fredrika Killander จาก Lund University และ Skane University Hospital, Lund, Sweden จึงต้องการศึกษาศึกษาแบบสุ่มตัวอย่างเพื่อศึกษาผลกระทบของการฉายรังสีรักษาครอบคลุมทั้งเต้านมต่อหัวใจในระยะยาว(20ปี) ผลการศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง International Journal of Radiation Oncology Biology&Physics เมื่อ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 2020
การศึกษานี้ เป็นการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่าง randomized clinical trial จากผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในโครงการ Randomized SweBCGRT Trial ประเทศสวีเดน เริ่มตั้งแต่ปีค.ศ. 1991 โดยมีผู้ป่วยมะเร็งระยะต้น ระยะที่1,2 (T1,T2, N0) ทั้งหมด 1,187ราย โดยสุ่มตัวอย่างผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่ง ได้รับการฉายรังสีรักษาครอบคลุมทั้งเต้านมหลังการผ่าตัดแบบเก็บเต้านม(BCS), และอีกกลุ่มได้รับการผ่าตัดวิธีการเดียว กลุ่มฉายรังสีฯได้รับปริมาณรังสี 48-54Gyที่เต้านม และติดตามผู้ป่วยทุกรายนาน 20ปี
ผลการศึกษาพบว่า ที่ 20ปี
• อัตราเสียชีวิตของผู้ป่วยจากโรคหัวใจในกลุ่มควบคุม(ไม่ได้รับรังสีฯ)=12.4%, และ13%ในกลุ่มได้รังสีฯ ซึ่งไม่ต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติ(p=0.8)
• อัตราเกิดโรคมะเร็งในเต้านมอีกข้าง และ/หรือมะเร็งปอดเท่ากันทั้ง 2 กลุ่มศึกษา
• ปริมาณรังสีที่หัวใจได้รับ:
o กรณีฉายฯมะเร็งเต้านมด้านขวา หัวใจได้รับรังสีน้อยมาก ไม่มีผลกระทบต่อหัวใจ
o กรณีฉายฯมะเร็งเต้านมด้านซ้ายซึ่งอยู่ใกล้หัวใจ ปริมาณรังสีกึ่งกลางที่หัวใจได้รับ median dose=3Gy (ช่วง1.1-8.1Gy) ซึ่งน้อยมากจนไม่น่าก่อผลข้างเคียง
o คณะผู้ศึกษา ได้ศึกษาเพิ่มเติมในผู้ป่วยปี ค.ศ. 2017ที่เทคนิคการฉายฯดีกว่าเมื่อ20ปีก่อน พบการฉายฯในมะเร็งเต้านมด้านซ้าย หัวใจได้รับปริมาณรังสีกึ่งกลาง=1.5 Gy (ช่วง 0.4-6.0).
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า การฉายรังสีรักษาครอบคลุมเต้านมทั้งเต้าในการรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดเก็บเต้านมไว้(BCS)ซึ่งการศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ ไม่ส่งผลข้างเคียงต่อหัวใจ และไม่พบว่าเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคหัวใจ เมื่อเปรียบเทียบผลกับรายงานที่มีมาก่อนที่เป็นการศึกษาแบบ meta- analysis (การวิเคราะห์อภิมาน)
แหล่งข้อมูล:
- International Journal of Radiation Oncology Biology&Physics 2020;107(4):701-709(abstract)