ผลการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากที่10ปี ด้วยการฉายรังสีรักษา
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 22 กุมภาพันธ์ 2564
- Tweet
ปัจจุบัน เทคนิคทางการฉายรังสีรักษาก้าวหน้ามาก ส่งผลให้แพทย์สามารถเพิ่มปริมาณรงสีในการรักษามะเร็งต่างๆได้สูงขึ้นจนส่งผลเพิ่มประสิทธิผลของการรักษาให้สูงขึ้นกว่าในอดีต บางกรณีประสิทธิผลเทียบเท่ากับการผ่าตัด นอกจากนั้นเทคนิคก้าวหน้าเหล่านี้ยังทำให้แพทย์สามารถจำกัดปริมาณรังสีให้อยู่ในขอบข่ายของโรคโดยเนื้อเยื่อปกติได้รับปริมาณรังสีฯต่ำกว่าในอดีตมากซึ่งส่งผลให้ลดผลข้างเคียงจากรังสีฯลงได้จนอยู่ในเกณฑ์ที่แพทย์พอใจ
มะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่โรคยังจำกัดอยู่เฉพาะต่อมลูกหมากแต่เป็นชนิดที่มีความรุนแรงโรคปานกลางถึงความรุนแรงโรคสูงกรณีที่ผ่าตัดไม่ได้ ปัจจุบันการรักษาหลักอีกวิธีคือ การฉายรังสีรักษาด้วยเทคนิค 3 มิติ ที่เรียกว่า ไอเอ็มอาร์ที(IMRT) ซึ่งแพทย์อาจเลือกการให้ปริมาณรังสีแบบทั่วไป(Conventional fractionation) คือ ฉายวันละ 2 Gy (1F), ฉาย 5 วัน (5F) ติดต่อกันต่อสัปดาห์ ขอเรียกย่อว่า C-IMRT, หรือ เพิ่มปริมาณรังสีแต่ละวันให้สูงขึ้นและลดจำนวน F ลงเรียกว่า Hypofractionation ขอเรียกย่อว่า H-IMRT ซึ่ง H-IMRT ในทางทฤษฏีจะให้ผลควบคุมมะเร็งได้ดีเช่นเดียวกับC-IMRT, โดยข้อดีกว่า คือ ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าในการมารับการบริการเพราะมาโรงพยาบาลน้อยวันกว่า ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และปัญหาในการลางาน แต่ขอเสียคือ อาจมีผลข้างเคียงที่มากกว่า
คณะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จาก Fox Chase Cancer Center, Philadelphia สหรัฐอเมริกา นำโดย นพ. Vladimir Avkshtol แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ต้องการศึกษาเปรียบเทียบผลการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะโรคจำกัดเฉพาะต่อมลูกหมาก แต่เป็นโรคกลุ่มมีความรุนแรงโรคปานกลางและกลุ่มมีความรุนแรงโรคสูงโดยเปรียบเทียบระหว่างการฉายรังสีฯเทคนิค C-IMRT กับ เทคนิค H-IMRT โดยศึกษาแบบล่วงหน้าและสุ่มตัวอย่าง (Randomized prospective trial)ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากกลุ่มดังกล่าวของโรงพยาบาลนี้ 275ราย ที่มีระยะกึ่งกลางติดตามโรค 122.9 เดือน
ทุกรายจะสุมตัวอย่างว่าใครจะได้รับ C-IMRT, ใครได้รับ H-IMRT กรณี C-IMRT ปริมาณรังสีที่ได้รับ=76Gy/38F, กรณี H-IMRT ปริมาณรังสีที่ได้รับ=70.2/26F
ผู้ป่วยกลุ่มความรุนแรงโรคปานกลางทุกราย(189ราย)จะได้รับการฉายรังสีไม่ว่าเทคนิคใดครอบคลุมเฉพาะต่อมลูกหมากและร่วมการรักษาทางฮอร์โมน(Androgen deprivation therapy: ADT)นาน 4 เดือน, ในขณะที่กลุ่มความรุนแรงโรคสูง(86ราย)ได้รับรังสีฯไม่ว่าเทคนิคใดครอบคลุมรอยโรคและต่อมน้ำเหลืองอุ้งเชิงกราน ร่วมกับได้ADTนาน 24 เดือน และได้รายงาน ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์โรคมะเร็ง Journal of Clinical Oncology (JCO) ฉบับ20พฤษภาคม 2020
ผลการศึกษาพบว่าที่10ปี: ผู้ป่วยที่ฉายรังสีฯทั้งกลุ่ม C-IMRT และกลุ่ม H-IMRT ไม่ต่างกันในทางสถิติทั้งในด้าน
- การเกิด Biological failure( ความล้มเหลวทางชีววิทยาของเซลล์มะเร็ง)
- อัตราตายจากตัวมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer–specific mortality)
- และอัตราตายจากทุกสาเหตุร่วมกัน(Overall mortality)
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า เมื่อติดตามผลการรักษาในระยะยาวนาน 10 ปี พบว่าผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะโรคจำกัดเฉพาะที่ซึ่งได้รับการฉายรังสีรักษาด้วยเทคนิค IMRT แบบทั่วไป(C-IMRT)ให้ผลการควบคุมโรคไม่ต่างจากการฉายรังสีฯIMRTเทคนิคเพิ่มปริมาณรังสีในแต่ละครั้งของการฉายรังสี(H-IMRT)
ในความเห็นของผู้เขียน ข้อจำกัดของการศึกษานี้ คือ ไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบ ผลข้างเคียงจากการรักษาทั้ง 2 วิธี
แหล่งข้อมูล:
- JCO 2020; 38(15): 1676–1684