คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน เปรียบเทียบผลการรักษามะเร็งแพร่กระจายมาสมองระหว่างเครื่องฉายรังสี3มิติชนิดรังสีแกมมาและชนิดรังสีโฟตอน
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 4 มกราคม 2564
- Tweet
การฉายรังสีรักษาครอบคลุมก้อนมะเร็งในสมองด้วยเทคนิคที่เรียกว่า รังสีศัลยกรรม(Radiosurgey ย่อว่า RS/ อาร์เอส) เป็นวิธีมาตรฐานวิธีหนึ่งในการรักษาโรคมะเร็งที่แพร่กระจายมายังสมองโดยเฉพาะแพร่กระจายหลายจุดในสมอง ซึ่งอาร์เอส มีทั้งจากการใช้รังสีแกมมาจากเครื่องฉายรังสีที่เรียกว่า แกมมาไนฟ์(Gamma knife) ย่อว่า GK-SRS หรือ จากใช้รังสีโฟตอนจากเครื่องฉายที่เรียกว่า Linac-based Stereotactic radiosurgery ย่อว่า Linac-SRS ซึ่งทั้ง2วิธีมีใช้ในประเทศไทย
การรักษาด้วยรังสีศัลยกรรม เป็นการฉายรังสีเพียงครั้งเดียวด้วยปริมาณรังสีสูงมากสูงตั้งแต่ 800 cGyขึ้นไป(การฉายรังสีเทคนิคทั่วไปจะฉายครั้งละ200cGyและฉายหลายๆครั้งต่อเนื่อง)ซึ่งรังสีสูงระดับนี้จะให้ผลทำลายเซลล์มะเร็งได้เหมือนผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก ซึ่งข้อดีกว่าคือ ผู้ป่วยไม่ต้องเสี่ยงต่อการผ่าตัดสมอง แต่ข้อเสียคือ ผลข้างเคียงของรังสีต่อสมองที่อาจทำให้เนื้อสมองส่วนได้รับรังสีสูงเกิดภาวะเนื้อสมองตาย(Radionecrosis)ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นประมาณ 10%ของผู้ป่วยจะมีอาการทางสมองโดยอาการจะต่างๆกันขึ้นกับเกิดกับเนื้อสมองส่วนใดตาย เช่น ปวดหัว, ความจำลดลง, มึนศีรษะ, บุคลิกภาพเปลี่ยน, อาจชัก, กล้ามเนื้ออ่อนแรง ทั่วไปโอกาสเกิดผลข้างเคียงนี้พบประมาณ 5-25% ขึ้นกับ ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง, จำนวนก้อนมะเร็งในสมองที่มากขึ้น มากกว่า 3-5ก้อน, และขนาดก้อนมะเร็งที่โตมากกว่า 2-3 ซม.
คณะแพทย์จากหลายโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกา นำโดย นพ. Nikhi T Sebastian แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาจาก Department of Radiation Oncology, The Ohio State University Comprehensive Cancer Center – Arthur G. James Cancer Hospital and Richard J. Solove Research Institute, Columbus ต้องการเปรียบเทียบอัตราเกิดเนื้อสมองตายระหว่างวิธีรักษาด้วย GK-SRS และ Linac-SRS เพื่อเป็นข้อมูลช่วยให้การดูแลรักษาผู้ป่วย และได้รายงานผลการศึกษานี้ในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง Radiotherapy and Oncology ฉบับ 1 มิถุนายน 2020
โดยศึกษาในผู้ป่วยที่มีมะเร็งแพร่กระจายมาสมองทั้งหมด 391 รายที่มีก้อนมะเร็งแพร่มาสมองตั้งแต่ 2 ก้อนขึ้นไป และผลการศึกษาพบว่า
- ผู้ป่วยทั้งกลุ่มได้รับ GK-SRS และ Linac-SRS มีอัตรารอดชีวิตไม่ต่างกัน (p=0.41)
- ผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดเนื้อสมองตายพบเกิดจาก GK-SRS สูงกว่า Linac-SRS อย่างมีความสำคัญทางสถิติ (p=0.002)
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า GK-SRS ให้ผลข้างเคียงเกิดเนื้อสมองตายสูงกว่า Linac-SRS อย่างมีความสำคัญทางสถิติ
แหล่งข้อมูล:
- Radiotherapy and Oncology 2020; 147: 136-143 (abstract)