คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนรูปแบบของการย้อนกลับเป็นซ้ำของมะเร็งท่อน้ำดีนอกตับ

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-389

มะเร็งท่อน้ำดีส่วนปลาย คือมะเร็งท่อน้ำดีที่อยู่นอกตับโดยเป็นท่อน้ำดีส่วนที่อยู่ใกล้กับลำไส้เล็ก ซึ่งมะเร็งท่อน้ำดีส่วนปลาย เป็นมะเร็งพบไม่บ่อย แต่พบได้เรื่อยๆ การรักษาหลักคือ การผ่าตัดที่แพทย์จะผ่าตัดก้อนมะเร็ง+ท่อน้ำดี+ต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงท่อน้ำดี และมะเร็งชนิดนี้ตอบสนองได้ดีพอควรต่อรังสีรักษา ดังนั้น แพทย์จึงต้องการทราบถึงลักษณะการย้อนกลับเป็นซ้ำของมะเร็งนี้หลังได้รับการผ่าตัดรักษาเพียงวิธีการเดียวและที่สามารถผ่าตัดมะเร็งออกได้หมด(R0) เพื่อที่จะใช้เป็นข้อมูลให้รังสีรักษาร่วมเป็นการรักษาต่อเนื่องหลังผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

การศึกษานี้มาจากประเทศจีน นำโดย นพ. Weiwen Zhou แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาจาก Department of Radiation Oncology, Sir Run Run Shaw Hospital, School of Medicine, Zhejiang University, Hangzhou ซึ่งได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์โรคมะเร็ง Radiotherapy and Oncology ฉบับ 1 มิถุนายน ค.ศ.2020

การศึกษานี้เป็นการศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีส่วนปลาย ที่ได้รับการรักษาโดยผ่าตัดก้อนเนื้อและต่อมน้ำเหลืองออกได้หมดที่เรียกว่า R0 ซึ่งศึกษาในผู้ป่วยทั้งหมดของโรงพยาบาล 124 รายในช่วงปี 2006-2018 และได้ติดตามผลการรักษานานที่ระยะกึ่งกลาง=35.3 เดือน (ช่วงระหว่าง 22.1-48.5เดือน) ผลการศึกษาพบว่า

  • ปัจจัยเสี่ยงสำคัญทางสถิติที่ทำให้เกิดโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ คือ การมีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรอบๆท่อน้ำดี (p=0.014)
  • นอกจากนั้น การมีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรอบๆท่อน้ำดียังเป็นปัจจัยสำคัญต่ออัตราอยู่รอดของผู้ป่วยที่แย่ลง (p น้อยกว่า 0.05)
  • ในระหว่างติดตามผลการรักษาพบว่า 55.6%ของผู้ป่วยมีโรคลุกลามหลังผ่าตัด ในการนี้

      o 65.2% โรคย้อนกลับเป็นซ้ำที่ตำแหน่งรอยโรคเดิมและที่ต่อมน้ำเหลืองตำแหน่งรอบๆท่อน้ำดีส่วนนอกตับโดยรวมถึงต่อมน้ำเหลืองที่อยู่รอบๆหลอดเลือดและรอบๆเนื้อเยื่อต่างๆข้างเคียงท่อน้ำดี

      o 30.4% พบโรคแพร่กระจายเข้าตับ

  • ระยะเวลากึ่งกลางของอัตราอยู่รอด(median overall survival)=45.5 เดือน
  • อัตราอยู่รอด:

      o ที่ 1 ปี=82.6%

      o ที่ 3 ปี=55.2%

      o ที่ 5 ปี=47.2%

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า ในผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีส่วนปลายที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด(R0) การรักษาต่อเนื่องหลังผ่าตัดในบริเวณรอยโรคเดิมและบริเวณต่อมน้ำเหลืองรอบๆท่อน้ำดีน่าจะมีประโยชน์ลดอัตราการเกิดมะเร็งย้อนกลับเป็นซ้ำได้ เพราะบริเวณที่โรคมักเกิด ย้อนกลับเป็นซ้ำเป็นบริเวณที่สามารถให้รังสีรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วยเทคนิคการฉายรังสีที่มีในปัจจุบัน

แหล่งข้อมูล:

  1. Radiotherapy and Oncology 2020; 147: 111-117