คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ในผู้ป่วยเบาหวาน
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 21 ธันวาคม 2563
- Tweet
ปัจจุบัน อัตราเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และยังพบอัตราเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้นในคนที่อายุน้อยกว่าเดิมคืออายุต่ำกว่า50 ปี ดังนั้นสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2563 จึงแนะนำให้ประชากรทั่วไปของสหรัฐอเมริกาควรเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่อายุ45ปี แต่หน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้านโรคมะเร็งสหรัฐอเมริกา ได้แก่ The U.S. Preventive Services Task Force , National Cancer Institute (NCI: สถาบันมะเร็งแห่งชาติ), Centers for Disease Control and Prevention (CDC: ซีดีซี) ยังแนะนำการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้เริ่มที่อายุ 50 ปี
ปัจจุบันจึงมีความเห็นจากแพทย์โรคมะเร็งว่า อายุที่ควรเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ควรขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งนี้ด้วย ซึ่งจากหลายการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีอัตราเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงกว่าประชากรทั่วไปที่ไม่ป่วยเป็นเบาหวาน และผู้ป่วยเบาหวานในปัจจุบันก็พบได้ในคนที่อายุน้อยลง คณะแพทย์จากประเทศสวีเดนและประเทศเยอรมนี นำโดย นพ. Uzair Ali Khan แพทย์จาก Division of Preventive Oncology, German Cancer Research Center and National Center for Tumor Diseases, Germany, Medical Faculty Heidenberg, Heidenberg University, Germany
จึงต้องการทราบว่า ผู้ป่วยเบาหวานเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่เร็วกว่าประชากรทั่วไปที่ไม่เป็นเบาหวานกี่ปี และได้เผยแพร่ผลการศึกษานี้ในวารสารการแพทย์ทางอินเทอร์เน็ต Public Library of Science ฉบับ 13 พฤศจิกายน 2020
การศึกษานี้ศึกษาจากทะเบียนมะเร็งระดับชาติของประเทศสวีเดน(Swedish Population Register, Cancer Registry, National Patient Register, and Multi-Generation Register)ในช่วง ค.ศ. 1964–2015, มีผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด 12,614,256 ราย, เป็นเบาหวาน 559,375 ราย, และเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ 162,226, อายุอยู่ในช่วง 0-107 ปี เป็นเพศชาย 51% ซึ่งการศึกษาพบว่า
- ในผู้ป่วยเบาหวานเพศชาย 0.44% ปัจจัยเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดที่อายุ45ปี (5ปี เร็วกว่าประชากรเพศชายมะเร็งนี้ที่ไม่เป็นเบาหวาน)
- ในผู้ป่วยเบาหวานเพศหญิง ปัจจัยเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่เกิด4ปี เร็วกว่าประชากรเพศ หญิงมะเร็งนี้ที่ไม่เป็นเบาหวาน
- และปัจจัยเสี่ยงที่พบโรคมะเร็งนี้ในอายุน้อยกว่าคนทั่วไปจะมีนัยสำคัญมากขึ้นในผู้ป่วยที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า การศึกษาครั้งนี้มีความถูกต้องทางสถิติสูงและเป็นการศึกษาครั้งแรกที่ยืนยันว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในผู้ป่วยเบาหวานควรเริ่มในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่าคนทั่วไปที่ไม่เป็นเบาหวาน
แหล่งข้อมูล: