คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลข้างเคียงและผลความสวยงามของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรกที่ได้รับการรักษาแบบผ่าตัดเก็บเต้านมไว้ร่วมกับรังสีรักษาจากการศึกษาแบบไปข้างหน้า
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 14 ธันวาคม 2563
- Tweet
วิธีรักษามะเร็งเต้านมระยะที่โรคมีโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำที่เต้านมในระดับต่ำถึงระดับปานกลาง(ประมาณโรคระยะศูนย์-ระยะ2) วิธีรักษามาตรฐานวิธีหนึ่งคือ การผ่าตัดแบบเก็บเต้านมไว้ (คือผ่าเอาเฉพาะก้อนมะเร็งออกทั้งนี้เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่รวมถึงความสวยงามเป็นหลัก)ร่วมกับการให้รังสีรักษา(รังสีโฟตอน)ที่เต้านม แต่การรักษาด้วยรังสีฯมักต้องใช้เวลานานประมาณ 5-8สัปดาห์ ฉายวันละครั้ง 5 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและเสียเวลา ผู้ป่วยหลายรายจึงปฏิเสธการฉายรังสี แพทย์รังสีรักษาได้ศึกษาเทคนิคต่างๆทางรังสีเพื่อลดระยะเวลาการฉายรังสีลง เทคนิคที่นิยมเทคนิคหนึ่ง คือ หลังผ่าตัดก้อนเนื้อออกรังสีรักษาแพทย์จะฉายรังสีบริเวณรอยโรคในห้องผ่าตัดด้วยรังสีชนิด อีเล็กตรอนเพียง1ครั้ง((ฉายในห้องผ่าตัดเลย เรียกว่า Intraoperative radiation with electron, ให้ Booster dose)ต่อจากนั้นจะฉายรังสีโฟตอนครอบคลุมทั้งเต้านมในระยะเวลาที่ลดลงจากประมาณ 5-8สัปดาห์เหลือเป็น 3 สัปดาห์(Hypofractionation)เพื่อความสะดวกของผู้ป่วย
คณะแพทย์จากประเทศกลุ่มอียู(EU, European union)นำโดย นพ. Gerd Fastner แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Paracelsus Medical University, University Hospital Salzburg ประเทศออสเตรีย จึงต้องการศึกษาโดยเป็นการศึกษาแบบการศึกษาไปข้างหน้า(Prospective study)เพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่แม่นยำที่สามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างดี
โดยศึกษาถึงผลทางด้านความสวยงาม และผลข้างเคียงจากรังสีฯทั้งในระยะเฉียบพลันและระยะยาวในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลุ่มดังกล่าวด้วยการผ่าตัดเก็บเต้านมไว้+การฉายรังสีฯอีเล็กตรอนที่รอยโรคหลังผ่าตัด 1ครั้ง ปริมาณรังสี 11.1Gy หลังจากนั้นจะตามด้วยการฉายรังสีครอบคลุมทั้งเต้านมใช้ระยะเวลาฉาย 3 สัปดาห์ สัปดาห์ละ5 วัน โดยฉายวันละครั้ง (Hypofractionation)รวมปริมาณรังสีทั้งหมด 40.5 Gy ซึ่งคณะแพทย์ได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง Radiotherapy and Oncology เมื่อ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2020
ซึ่งได้ศึกษาในปี 2011 แบบไปข้างหน้า จากผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะต้นจากหลายโรงพยาบาลในอียูรวมกัน 583 ราย อายุผู้ป่วย 35-มากกว่า 50 ปี (ผู้ป่วยในกลุ่มNCT01343459) หลังการติดตามผู้ป่วยนาน 0-74 เดือน (ระยะกึ่งกลาง/median=45เดือน) ผลการศึกษาพบว่า
- ผลข้างเคียงจากรังสีฯระยะเฉียบพลันที่เต้านมอยู่ในระดับความรุนแรงที่ต่ำมาก(score 0-1)=91%หลังครบรังสีฯ, 92%ในระยะ 4 สัปดาห์หลังครบรังสีฯ
- ผลข้างเคียงจากรังสีฯระยะยาวอยู่ในระดับความรุนแรงที่ต่ำมาก(score 0-1)= 89-97.3% ที่ระยะ4-5เดือนหลังครบรังสีฯ, และ 91-100%ที่ระยะเวลา 6 ปีหลังครบรังสีฯ
- ผลด้านความสวยงามที่3ปีหลังครบการรักษา อยู่ในเกณฑ์น่าพอใจทั้งจากผู้ป่วยและจากแพทย์
คณะผู้ศึกษาสรุปผลการศึกษาว่า การรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรกๆด้วยการผ่าตัดแบบเก็บเต้านมไว้+การให้รังสีรักษาด้วยเทคนิคการฉายรังสีในห้องผ่าตัดที่รอยโรค+การฉายรังสีครอบคลุมทั้งเต้านมด้วยเทคนิคHypofractionation ให้ผลการรักษาในด้านมีผลข้างเคียงน้อย และมีผลด้านความสวยงามที่ดี เมื่อติดตามผู้ป่วยได้ในระยะเวลานานประมาณ 3-5 ปี
แหล่งข้อมูล:
- Radiotherapy and Oncology 2020;146:136-142 (abstract)