คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การรักษามะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนชนิดHemangiopericytoma

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-386

มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนชนิดHemangiopericytomaกลุ่มที่เกิดโรคที่อวัยวะต่างๆนอกสมอง พบในผู้ใหญ่ และพบน้อยมาก การรักษาหลักคือการผ่าตัดก้อนเนื้อออกให้ได้กว้างที่สุด และในหลายสถาบันทางการแพทย์ หลังผ่าตัดมักให้รังสีรักษาต่อเนื่องในบริเวณรอยโรคเดิม

คณะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จากหลายโรงพยาบาลในยุโรปและสหรัฐอเมริกา นำโดย รังสีรักษาแพทย์ Marco Krengli จาก Dept. of Radiation Oncology, University Hospital, Novara, อิตาลี จึงต้องการศึกษาถึงผลการรักษาว่า การฉายรังสีฯร่วมด้วยจะช่วยให้ผลการรักษาควบคุมโรคนี้เป็นอย่างไร และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์โรคมะเร็งของยุโรป Radiation Therapy and oncology ฉบับ มีนาคม 2020

โดยเป็นการศึกษาย้อนหลังจากข้อมูลของ Rare Cancer Network ในผู้ป่วยHemangiopericytomaกลุ่มที่เกิดโรคที่อวัยวะต่างๆนอกสมอง ทั้งหมด 114 รายในช่วงค.ศ. 1982-2012 ซึ่งการศึกษาจะแบ่งเป็นผู้ป่วย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มรอยโรคเกิดที่แขน-ขาและลำตัว 58ราย, และอีกกลุ่มคือรอยโรคเกิดในทรวงอกและ/หรือในโพรงหลังเยื่อบุช่องท้อง 56 ราย (Retroperitoneal region) ซึ่งในผู้ป่วยทั้งหมด 68.4%(78ราย)รักษาโดยผ่าตัด, 31.6% (36ราย)รักษาโดยผ่าตัดร่วมกับฉายรังสีรักษา

ผลการศึกษา:

  • ในผู้ป่วยรอยโรคเกิดที่แขน ขา และลำตัว:

      o เมื่อติดตามโรคได้ 5ปี การควบคุมรอยโรคที่ต้นกำเนิด(Local control)ได้: กลุ่มรักษาด้วยผ่าตัดวิธีเดียว=50.4%, กลุ่มรักษาด้วยผ่าตัด+รังสีฯ =91.6%, ซึ่งต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติ p น้อยกว่า 0.0001

      o เมื่อติดตามโรคได้ 5ปี อัตราปลอดโรค(Disease free survival) : กลุ่มรักษาด้วยผ่าตัดวิธีเดียว= 50.4%, กลุ่มรักษาด้วยผ่าตัด+รังสีฯ= 83.1%, ซึ่งต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติ p น้อยกว่า 0.008

  • ในผู้ป่วยรอยโรคเกิดในทรวงอกและ/หรือในโพรงหลังเยื่อบุช่องท้อง:

      o เมื่อติดตามโรคได้ 5ปี การควบคุมรอยโรคต้นกำเนิด(Local control)ได้: กลุ่มรักษาด้วยผ่าตัดวิธีเดียว= 89.3%, กลุ่มรักษาด้วยผ่าตัด+รังสีฯ= 77.8%, ซึ่งไม่ต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติ p=0.99

      o เมื่อติดตามโรคได้ 5ปี อัตราปลอดโรค(Disease free survival) : กลุ่มรักษาด้วยผ่าตัดวิธีเดียว= 73.8%, กลุ่มรักษาด้วยผ่าตัด+รังสีฯ= 77.8%, ซึ่งไม่ต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติ p=0.93

  • ในการวิเคราะห์แบบหลายตัวแปร(Multivariate analysis)พบว่า การรักษาด้วยผ่าตัด+รังสี เป็นปัจจัยสำคัญช่วยควบคุมรอยโรคในผู้ป่วยทั้ง2กลุ่ม

คณะผู้ศึกษาสรุปผลการศึกษาว่า ในมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนชนิด Hemangiopericytoma ที่เกิดนอกสมอง การรักษาด้วยการผ่าตัด+รังสีฯ จะมีการพยากรณ์โรคที่ดีกว่าการผ่าตัดวิธีเดียวและโดยเฉพาะเมื่อเกิดโรคที่แขน ขา

แหล่งข้อมูล:

  1. Radiationtherapy and oncology 2020; 144:114-120