คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การฉายรังสีร่วมกับการผ่าตัดในมะเร็งกระเพาะอาหารมีประโยชน์หรือไม่
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 5 ตุลาคม 2563
- Tweet
มะเร็งกระเพาะอาหาร มีการรักษาหลักคือการผ่าตัดกระเพาะอาหารและต่อมน้ำเหลืองรอบๆกระเพาะอาหารออกร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด และอาจให้การฉายรังสีรักษาร่วมด้วย แพทย์จึงต้องการทราบว่า การให้รังสีรักษาร่วมด้วยสามารถเพิ่มประสิทธิผลการควบคุมโรคได้หรือไม่ และควรเลือกใช้ในผู้ป่วยกลุ่มใดจึงจะได้ประโยชน์
การศึกษานี้ทำใน เซียงไฮ้ ประเทศจีน โดยคณะแพทย์จากภาควิชาศัลยศาสตร์ Department of General Surgery, Shanghai Tenth Peoples' Hospital, Tongji University, Shanghai นำโดย ศัลยแพทย์ นพ.T.S. Yang และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ Clinical Oncology ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020
การศึกษานี้เป็นการศึกษาย้อนหลังและไม่ใช่การสุ่มตัวอย่าง โดยศึกษาจากเวชรเบียนของ the National Cancer Database ในช่วง ค.ศ.2004 – 2014 ซึ่งมีผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารทั้งหมด 4,347 ราย
- 1,185 ราย ได้รับยาเคมีบำบัดวิธีเดียว หลังผ่าตัด
- 3,162 รายได้รับยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีรักษาหลังผ่าตัด
- ในภาพรวมของผู้ป่วยทั้งหมด ผู้ป่วยที่ได้ทั้งยาเคมีบำบัด+รังสีฯมีอัตรารอดที่ห้าปีสูงกว่าผู้ป่วยได้เคมีบำบัดวิธีเดียวฯอย่างสำคัญทางสถิติ 54.8% ต่อ 46.8% (p น้อยกว่า 0.001) ทั้งนี้โดยเฉพาะในโรคระยะ2 และระยะ3
เมื่อศึกษารายละเอียดลึกลงไปอีก(Multivariable analysis) พบว่าผู้ป่วยที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากการรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร คือ
- ผู้ป่วยมีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองร่วมกับเข้าหลอดน้ำเหลือง โดยอัตรารอดที่ห้าปีถ้าได้รับการรักษาทั้งยาเคมีฯ+รังสี=49%, ส่วนผู้ป่วยที่ได้เคมีฯอย่างเดียว อัตรารอดที่ห้าปี=39.4%, p=0.001
- และไม่พบความแตกต่างในอัตรารอดที่ห้าปี ถ้ามีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองเพียงอย่างเดียวโดยไม่พบลุกลามเข้าหลอดน้ำเหลือง คือ ถ้าได้เคมี+รังสี อัตรารอดที่ห้าปี=54.5% ขณะที่กลุ่มได้เคมีอย่างเดียว=52.7%, p=0.55
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า เนื่องจากการศึกษานี้เป็นการศึกษาย้อนหลัง การจะนำมาเป็นข้อมูลกำหนดการรักษามาตรฐานในมะเร็งกระเพาะอาหาร ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมด้วยการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่างล่วงหน้า
แหล่งข้อมูล:
- T.S. Yang, et al Clinical Oncology 2020; 32(2):110-120