คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน สถิติเกิดมะเร็งทวารหนักสูงขึ้นต่อเนื่อง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-362

มะเร็งทวารหนักเดิมเป็นมะเร็งพบได้ประปราย เป็นมะเร็งของผู้ใหญ่ ทั้งเพศหญิงและชาย มักในวัย 35 ปีขึ้นไป เซลล์มะเร็งมักเป็นชนิด Squamous cell carcinoma(SCC) โดยปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคที่สำคัญ คือ

  • การติดเชื้อเอชพีวีที่ทวารหนัก
  • การติดเชื้อเอชไอวี
  • มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
  • มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น กินยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่อเนื่อง
  • สูบบุหรี่

ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกา มีบางรายงานพบสถิติเกิดโรคนี้สูงขึ้น คณะนักระบาดวิทยาและแพทย์จากสหรัฐอเมริกา นำโดยนักระบาดวิทยาชื่อ Ashish A Deshmukh จาก Center for Health Services Research, Department of Management, Policy, and Community Health, UTHealth School of Public Health, Houston, Texas จึงต้องการศึกษาเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงว่า ในประเทศสหรัฐฯ มีการเกิดมะเร็งทวารหนักสูงขึ้นจริงหรือไม่ เพื่อแพทย์จะได้หาแนวทางป้องกัน/ลดอัตราการเกิดโรคนี้ รวมถึงแนวทางในการตรวจคัดกรองและการรักษา ซึ่งได้รายงานผลการศึกษานี้ ในวารสารการแพทย์โรคมะเร็งชื่อ Journal of National Cancer Institute (ย่อว่า JNCI หรือ J Natl Cancer Inst) เผยแพร่ออนไลน์ เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2019

ผลการศึกษา: เป็นการศึกษาจากข้อมูลสถิติโรคมะเร็งของประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงปี ค.ศ. 2001-2015 ส่วนสถิติอัตราเสียชีวิตอยู่ในช่วงปี 2001-2016 ซึ่งพบว่า

  • สถิติเกิดมะเร็งทวารหนักชนิดSCCเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ประมาณปีละ 2.7% ทั้งในเพศชายและเพศหญิง ทั้งคนผิวดำและคนผิวขาว
  • มักพบเป็นโรคระยะรุนแรง มีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ประมาณ 2 เท่า
  • โรคระยะแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด(ระยะที่4)พบสูงขึ้นประมาณ 3 เท่า
  • พบโรคในระยะแรกที่ยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองเพียง 1.3-2.3%
  • อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นประมาณ 1.9%- 3.1%ต่อปี โดยเฉพาะในผู้ป่วยอายุตั้งแต่50ปีขึ้นไป

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า จากการที่ข้อมูลจากการศึกษาพบการเพิ่มขึ้นของสถิติเกิดและสอดคล้องกันสถิติการเสียชีวิต จึงเป็นข้อมูลที่บ่งแน่ชัดว่า มีการเกิดโรคนี้เพิ่มขึ้นจริง การหาทางป้องกัน จึงเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างเร่งด่วน

ในความเห็นของผู้เขียน ขณะรอผลการศึกษาวิธีป้องกันที่จะมีมาตรการออกมา ประชาคนทุกคนรวมถึงคนไทย ทราบอยู่แล้วว่า อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคนี้ ดังนั้นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง จึงสามารถช่วยลดโอกาสเกิดโรคนี้ลงได้ ที่ทำได้ง่าย คือ

  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ที่รวมถึง ทางปากและทางทวารหนัก ซึ่งจะช่วยลดโอกาสติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้ง เอชไอวี และการติดเชื้อ เอชพีวี ลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แหล่งข้อมูล:

  1. JNCI 2019; 2019,Nov19(abstract), on line https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/31742639 [2020,June1 ]