คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผู้ป่วยมะเร็งปอดที่จะได้ประโยชน์จากการฉายรังสีสมองเพื่อป้องกันมะเร็งแพร่กระจายสู่สมอง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-359

มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก เป็นมะเร็งปอดที่พบบ่อยรองจากมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต โดยเป็นชนิดมีความรุนแรงโรคสูง มักมีโรคแพร่กระจายสู่สมองสูงกว่ามะเร็งปอดชนิดอื่นๆมาก จนวิธีรักษาวิธีหนึ่งคือ หลังให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดครบแล้ว แพทย์มะเร็งบางกลุ่มจะแนะนำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาต่อเนื่องด้วยการฉายรังสีรักษาที่สมองเพื่อเป็นการป้องกัน/ลดโอกาสเกิดเซลล์มะเร็งแพร่กระจายที่สมองที่เรียกวิธีรักษานี้ว่า PCI/พีซีไอ(ย่อมาจาก Prophylactic cranial irradiation) และในปัจจุบัน การตรวจรอยโรคที่สมองด้วยเอมอาร์ไอ/คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า จะให้ความแม่นยำสูงในการวินิจฉัยว่ามีรอยโรคที่สมองหรือไม่ รวมทั้งเทคนิคการฉายรังสีรักษาก้าวหน้ามากขึ้นมากมายจนสามารถลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากรังสีต่อสมองได้ในระดับที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย

คณะแพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาจากสหรัฐอเมริกา นำโดย นพ. Michael K. Farris จาก Wake Forest Baptist Medical Center, Winston-Salem, North Carolina

จึงต้องการศึกษาเพื่อให้ทราบว่า การตรวจรอยโรคที่สมองก่อนการฉายรังสีฯด้วยเอมอาร์ไอ ร่วมกับPCIหลังครบเคมีบำบัดในการรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กที่ยังไม่มีมะเร็งแพร่กระจายสู่สมอง ให้ผลเพิ่มอัตรารอดชีวิต, ลดอัตราโรคลุกลามแพร่กระจาย/อัตราปลอดโรค, ลดอัตราแพร่กระจายของโรคสูงสมอง,ได้หรือไม่ และรวมทั้งผู้ป่วยกลุ่มใดจะได้ประโยชน์จาก PCI ซึ่งได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์สหรัฐอเมริกา ชื่อ PRO(Practical Radiation Oncology) เผยแพร่ออนไลน์ ฉบับเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม ค.ศ. 2019

การศึกษานี้ ศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กในโรคระยะที่ยังไม่แพร่กระจายทางกระแสเลือดที่เรียกว่า ระยะ Limited stage และการตรวจสมองด้วยเอมอาร์ไอหลังครบเคมีบำบัด ไม่พบรอยโรคที่สมอง ในช่วง ค.ศ. 2007-2018 ทั้งหมด92 ราย

ผลการศึกษา:

  • ป่วยได้รับPCI= 39 ราย, ไม่ได้PCI = 53 ราย
  • ระยะกึ่งกลางของการรอดชีวิต (median overall survival): ผู้ป่วยกลุ่มได้รับ PCI=37.9เดือน, กลุ่มไม่ได้ PCI=30.5เดือน, p=0.07, ไม่มีประโยชน์ชัดเจนทางสถิติ
  • ระยะกึ่งกลางการปลอดโรค (progression free survival): ผู้ป่วยกลุ่มได้รับ PCI=26.3 เดือน, กลุ่มไม่ได้ PCI= 12.3เดือน, p=0.02 มีประโยชน์ชัดเจนทางสถิติ
  • เมื่อติดตามผู้ป่วยได้ 2 ปี: พบเกิดโรคแพร่กระจายที่สมอง=10%ในผู้ได้ PCI, 29%ในผู้ไม่ได้ PCI ซึ่งต่างกันชัดเจนทางสถิติ
  • แต่เมื่อติดตามผู้ป่วยถึง4 ปี กลุ่ม PCI มีโรคแพร่กระจายที่สมอง=32%, กลุ่มไม่ได้ PCI=29% ซึ่งไม่ต่างกันทางสถิติ, p=0.66
  • และเมื่อศึกษาละเอียดลึกลงไปอีก พบว่า

      o กรณีที่มะเร็งตอบสนองได้ดีต่อยาเคมีบำบัด คือ ตรวจทางรังสีวิทยาไม่พบรอยโรคในอวัยวะต่างๆหลังเคมีบำบัด(Complete response) เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ ไม่ได้ประโยชน์ชัดเจนทางสถิติจากPCI, p=0.50

      o กรณีผู้ป่วยกลุ่มมีรอยโรคเหลือหลังเคมีบำบัดจะได้รับประโยชน์จากPCI อย่างชัดเจนทางสถิติ, p=0.01

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า การได้รับPCIในผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กในโรคระยะจำกัด การได้รับPCIหลังครบเคมีบำบัดและตรวจภาพสมองด้วยเอมอาร์ไอไม่พบรอยโรคในสมองจะได้ประโยชน์ลดอัตราการลุกลามของโรคและลดโอกาสการแพร่กระจายไปสมองในระยะ1-2ปีหลังการรักษาเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มที่ตอบสนองไม่ดีต่อยาเคมีบำบัด คือ ยังมีรอยโรคที่ปอดและที่อวัยวะอื่นๆหลงเหลืออยู่

ในความเห็นของผู้เขียน ข้อมูลจากการศึกษานี้ น่าจะช่วยผู้ป่วยฯในการตัดสินใจว่าจะรับPCI หลังเคมีบำบัดหรือไม่

แหล่งข้อมูล:

  1. Practical Radiation Oncology 2019; 9(6): e599-e607 (abstract)