คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการรักษามะเร็งไส้ตรงที่ย้อนกลับเป็นซ้ำ

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-355

วิธีรักษามะเร็งไส้ตรงที่ย้อนกลับเป็นซ้ำเฉพาะที่และผู้ป่วยมีอาการ มีหลากหลายวิธี เช่น ผ่าตัดซ้ำ ฉายรังสีรักษาซ้ำ ใช้ยาเคมีบำบัดซ้ำ ใช้ยารักษาตรงเป้า ซึ่งแพทย์อาจใช้วิธีรักษาเพียงวิธีเดียว หรือ หลายวิธีร่วมกัน ขึ้นกับ อาการผู้ป่วย, การผ่าตัดซ้ำได้หรือไม่, การตอบสนองต่อรังสีฯและ/หรือยาเคมีบำบัดในการรักษาครั้งแรก, อายุ, สุขภาพผู้ป่วย, ความต้องการของผู้ป่วย/ครอบครัว, และดุลพินิจของแพทย์

คณะแพทย์โรคมะเร็งจากประเทศเกาหลีใต้ นำโดย นพ. Jeongshim Lee แพทย์รังสีมะเร็งวิทยา แห่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Yonsei University College of Medicine ต้องการเปรียบเทียบผลการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ ระหว่างการรักษาด้วย ผ่าตัด+รังสีฯ กับผู้ป่วยที่รักษาด้วยรังสีฯวิธีเดียว และได้รายงานผลการศึกษานี้ในวารสารการแพทย์ของยุโรป Rdiotherapy&Oncology ฉบับประจำเดือน พย. 2019

เป็นการศึกษา Systemic review จากการศึกษาที่รายงานเป็นภาษาอังกฤษในอินเทอร์เน็ทที่เป็นที่เชื่อถือทางการแพทย์ เช่น PubMed พบว่ามีการศึกษาที่ผ่านมาที่สามารถนำมารวบรวมศึกษาครั้งนี้ได้ ทั้งหมด 17 การศึกษา รวมเป็นผู้ป่วยมะเร็งไส้ตรงฯทั้งหมด 744 ราย ผู้ป่วยทั้งหมดได้รับการติดตามโรคอยู่ในช่วง 10-45 เดือน (ระยะเวลากึ่งกลาง= 24.5เดือน) ผลการรักษาคือ

  • ผู้ป่วยทุกรายที่ได้รับการรักษา มีอัตรารอดชีวิตที่1ปี= 76.1%, ที่2ปี= 49.1%, และที่3ปี+ 38.3%
  • สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดย ผ่าตัด+ฉายรังสีฯ อัตรารอดชีวิตที่1ปี= 85.9 %, ที่2ปี= 71.8 %, และที่3ปี= 51.7%
  • สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยฉายรังสีวิธีเดียว อัตรารอดชีวิตที่1ปี= 63.5 %, ที่2ปี= 34.2 %, และที่3ปี= 23.8 %
  • ซึ่งอัตรารอดของผู้ป่วยจากการผ่าตัด+การฉายรังสี ดีกว่าอย่างมีความสำคัญทางสถิติ p <0.05
  • อัตราควบคุมโรคเฉพาะที่ไส้ตรงของผู้ป่วยกลุ่มผ่าตัด+รังสี, ที่ 1ปี= 84.4%, ที่2ปี= 63.8% และที่3ปี= 46.9%
  • อัตราควบคุมโรคเฉพาะที่ไส้ตรงของผู้ป่วยกลุ่มได้รังสีวิธีเดียว, ที่1ปี= 72.0%, ที่2ปี= 54.8%% และที่3ปี= 44.6%
  • ซึ่งอัตราควบคุมโรคได้ที่ไส้ตรง ไม่ต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติ
  • และพบว่าผลข้างเคียงระดับรุนแรงจากการรักษา(ตั้งแต่Grade3ขึ้นไป)ในผู้ป่วยกลุ่มผ่าตัด+รังสีฯ สูงกว่ากลุ่มได้รับรังสีฯวิธีเดียว อย่างมีความสำคัญทางสถิติ(Odds ratio=6.39)

จากการศึกษานี้ เพื่อให้ได้ประสิทธิผลอย่างเหมาะสมสูงสุดกับผู้ป่วยแต่ละราย ผู้เขียนมีความเห็นว่า วิธีรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ ควรเป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่าง แพทย์และ ผู้ป่วย/ครอบครัว เป็นรายๆไป

แหล่งข้อมูล:

  1. Rdiotherapy And Oncology 2019,140:10-19( abstract)