คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการฉายรังสีรักษาบรรเทาอาการปวด
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 9 มีนาคม 2563
- Tweet
การรักษาบรรเทาอาการปวดจากมะเร็งแพร่กระจายเข้ากระดูก(ยกเว้นกระดูกสันหลัง)มักเป็นการรักษาร่วมกันด้วย ยาเคมีบำบัดตามชนิดเซลล์มะเร็ง, การฉายรังสีรักษากระดูกตำแหน่งมะเร็งแพร่กระจาย, และอาจร่วมกับการผ่าตัดกรณีกระดูกนั้นหักหรือเสี่ยงต่อการหัก
การฉายรังสีรักษา ทั่วไปจะฉายรังสีทั้งหมด 10 ครั้ง/2สัปดาห์(วันละ1ครั้ง, ปริมาณรังสี 3Gy/ครั้ง/วัน)รวมปริมาณรังสีทั้งหมด 30Gy/10 ครั้ง, แต่ปัจจุบันรังสีรักษาก้าวหน้าขึ้นมาก แพทย์สามารถให้ปริมาณรังสีต่อครั้งได้สูงขึ้น(การฉายรังสีแบบ3มิติ)จึงสมารถให้การรักษาโดยฉายรังสีปริมาณสูงเพียง1ครั้ง ซึ่งจะสะดวกกับผู้ป่วยและครอบครัวเป็นอย่างมาก
คณะแพทย์จากโรงพยาบาล MD Anderson รัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา ศึกษาว่า การฉายรังสีฯเพียงครั้งเดียวมีประสิทธิผลเป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับการฉายรังสี10ครั้ง การศึกษานี้นำโดย พญ. Q.N. Nguten แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา และได้รายงานผลในการประชุมประจำปีของสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา(ASTRO/ the American Society for Radiation Oncology) ที่นครชิคาโก 15-18 กันยายน 2019
การศึกษานี้เป็นการศึกษาล่วงหน้าแบบสุ่มตัวอย่าง(Prospective randomized Trial) เปรียบเทียบผู้ป่วยมะเร็งแพร่กระจายเข้ากระดูก(ยกเว้นกระดูกสันหลัง)ที่โรงพยาบาล MD Andersonช่วง กันยายน 2014-มิถุนายน 2018 โดยมีผู้ป่วยทั้งหมด 160ราย,
- ได้รับการฉายรังสี 1ครั้งด้วยเทคนิค3มิติ 81 ราย, ถ้าขนาดรอยโรคน้อยกว่า 4ซม. จะได้ปริมาณรังสี 16Gy, แต่ถ้ารอยโรคขนาดตั้งแต่ 4ซม.ขึ้นไปจะได้รังสี 12Gy, และ
- ผู้ป่วยอีกกลุ่ม 79 ราย ได้รังสี 10ครั้ง/30Gy
ผลการศึกษาพบว่า
- กลุ่มฉายรังสีครั้งเดียว ที่3 เดือน ควบคุมอาการปวดได้ 72%, กลุ่มฉายรังสี 10 ครั้งควบคุมอาการปวดได้ 49% ต่างกันอย่างมีความสำคัญทางสถิติ(p=0.03)
- กลุ่มฉายรังสีครั้งเดียว ที่9เดือน ควบคุมอาการปวดได้ 77%, กลุ่มฉายรังสี 10 ครั้งควบคุมอาการปวดได้ 46% ต่างกันอย่างมีความสำคัญทางสถิติ(p=0.04)
- ที่1 ปี: กลุ่มฉายรังสีครั้งเดียว ควบคุมรอยโรคไม่ให้ลุกลาม(Local progression free survival) 100%, กลุ่มฉายรังสีฯ10ครั้ง ควบคุมรอยโรคได้ 90.5% ไม่ต่างกันชัดเจน
- ที่2 ปี: กลุ่มฉายรังสีครั้งเดียว ควบคุมรอยโรคไม่ให้ลุกลาม(Local progression free survival) 100%, กลุ่มฉายรังสีฯ10ครั้ง ควบคุมรอยโรคได้ 75.6% ต่างกันอย่างมีความสำคัญทางสถิติ(p=0.01)
- และผลข้างเคียงจากการฉายรังสีไม่ต่างกันในผู้ป่วยทั้ง2กลุ่ม
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า ผลการศึกษานี้สมควรนำไปประยุกต์ใช้รักษาผู้ป่วยปวดกระดูกจากมะเร็งแพร่กระจายเข้ากระดูก(ยกเว้นเข้ากระดูกสันหลัง)โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่แพทย์ประเมินแล้วว่าจะอยู่ได้นานมากกว่า1ปีเพื่อช่วยลดโอกาสการฉายรังสีซ้ำ
แหล่งข้อมูล:
- Proceeding of the ASTRO, 2019 Annual meeting(abstract 100)
- https://www.medscape.com/viewarticle/918830 [2019,Feb18]