ประสิทธิผลการรักษามะเร็งหลอดอาหารด้วยยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษาขึ้นกับปริมาณเม็ดเลือดขาวที่ต่ำลงขณะรักษา
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 2 มีนาคม 2563
- Tweet
คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ประสิทธิผลการรักษามะเร็งหลอดอาหารด้วยยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษาขึ้นกับปริมาณเม็ดเลือดขาวที่ต่ำลงขณะรักษา
การรักษามะเร็งหลอดอาหารในระยะโรคลุกลามแต่ยังไม่แพร่กระจาย(ระยะที่2 และ3)คือการให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีรักษา และอาจตามด้วยการผ่าตัดกรณีสามารถผ่าตัดได้
ข่าวการแพทย์ จาก Medscape Oncology เมื่อ 24กันยายนค.ศ. 2019 รายงานการศึกษาจากคณะแพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา (จากที่ประชุมประจำปีของสมาคมรังสีรักษาและมะเร็ง สหรัฐอเมริกา เมื่อ 15-18 กันยายน 2019 ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา) นำโดย นพ. Eddie Zhang จาก Fox Chase Cancer Center, ฟิลาเดลเฟีย โดยรายงานถึง ผลกระทบต่อการลดต่ำลงของเม็ดเลือดขาวชนิด ลิมโฟไซต์/Lymphocyteขณะรักษามะเร็งหลอดอาหารระยะที่ผ่าตัดไม่ได้แต่แรก คือ โรคระยะที่2และ3 ด้วยการให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษา พบว่าผู้ป่วยที่ขณะรักษาและมีเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ต่ำลงมาก
- มีระยะกึ่งกลางรอดชีวิต(median overall survival time)ต่ำกว่าผู้ไม่มีการต่ำลงของลิ้มโฟไซต์อย่างมีความสำคัญทางสถิติ คือ 2. 4 ปี ต่อ 4ปี
- มีระยะกึ่งกลางปลอดการย้อนกลับเป็นซ้ำของโรค(median recurrence free survival time)ต่ำกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีการต่ำลงของลิมโฟไซต์อย่างมีความสำคัญทางสถิติ คือ 1.8ปี ต่อ 4ปี
การศึกษานี้ศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารระยะที่2,3 ทั้งหมด189ราย ระยะกึ่งกลางการติดตามโรคคือ 2.3 ปี, อายุกึ่งกลางของผู้ป่วยคือ 65ปี, 84%เป็นเพศชาย, 16%เป็นเพศหญิง, ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว, เป็นมะเร็งชนิดAdenocarcinoma 78%, และเป็นมะเร็งเกิดในตำแหน่งหลอดอาหารส่วนปลายหรือส่วนต่อกับกระเพาะอาหาร 85%
อนึ่ง เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ มีหน้าที่ในระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย การศึกษานี้สนับสนุนว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของผลการรักษามะเร็ง คือ การที่ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ปกติ
แหล่งข้อมูล: