คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การรักษามะเร็งคอร์โดมากะโหลกส่วนฐานสมอง
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 27 มกราคม 2563
- Tweet
คอร์โดมา(Chordoma)เป็นมะเร็งของเนื้อเยื่อตัวอ่อนที่จะเจริญเติบโตเป็นส่วนหนึ่งของกระดูกสันหลังที่รวมถึงกระดูกกะโหลกส่วนฐานสมองที่เรียกว่า Notochord ซึ่งเมื่อทารกเริ่มสร้างกระดูกสันหลังและกะโหลกส่วนฐานสมอง Notochordจะหายไปกลายเป็นเนื้อเยื่อระหว่างรอยต่อของกระดูกสันหลังแต่ละข้อ ซึ่งเมื่อเนื้อเยื่อตัวอ่อนฯนี้ยังคงอยู่เมื่อเป็นเด็ก/ผู้ใหญ่ จะสามารถเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้ ซึ่งมะเร็งที่เกิดจาก Notochord เรียกว่า ‘คอร์โดมา’
คอร์โดมา พบน้อย มีรายงานในแต่ละปีพบประมาณ1รายต่อประชากร 1ล้านคน พบ เพศชายบ่อยกว่าเพศหญิงประมาณ 2 เท่า พบทุกอายุ ทั่วไปพบในอายุช่วง 40-70ปี พบน้อยในเด็กเพียงประมาณ5%ของโรคนี้
คอร์โดมา เกิดได้ทุกตำแหน่งตั้งแต่กระดูกฐานสมองไปจนตลอดความยาวของกระดูกสันหลัง แต่ตำแหน่งที่รักษาได้ยากและผลการรักษาแย่กว่าโรคนี้ตำแหน่งอื่นคือ ที่กะโหลกส่วนฐานสมองซึ่งพบประมาณ 1ใน3ของมะเร็งนี้
คอร์โดมา จะรุกราน/ลุกลามเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง และประมาณ 20-40% แพร่กระจายทางกระแสโลหิต มักแพร่กระจายสู่ปอด
การรักษาหลักของ คอร์โดมา คือ ผ่าตัดก้อนเนื้อออก ซึ่งโรคย้อนกลับเป็นซ้ำได้สูง แพทย์หลายท่านจึงรักษาต่อเนื่องหลังผ่าตัดด้วยการฉายรังสีรักษา ทั่วไปอัตรารอดที่ห้าปีของมะเร็งนี้รวมในทุกตำแหน่งที่เกิดโรค ประมาณ 70% และที่10ปีประมาณ 40%
เนื่องจากเป็นมะเร็งพบน้อย และยิ่งพบน้อยลงไปอีกในกลุ่มที่เกิดที่กระดูกฐานสมอง/กะโหลกส่วนฐานสมอง แพทย์จากสหรัฐอเมริกาจึงได้ศึกษาถึงวิธีรักษา คอร์โดมากลุ่มนี้ในสหรัฐอเมริกา ที่รวมถึงผลการรักษา และได้รายงานใน วารสารการแพทย์ Clinical Oncology ทางอินเทอร์เน็ต เมื่อ กันยายน ค.ศ. 2019 นำการศึกษาโดย นพ. M.M. Hulou แห่ง ภาควิชาศัลยกรรมระบบประสาท มหาวิทยาลัย Kentucky โดยศึกษาข้อมูลจาก 2 สถาบันข้อมูลหลักของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ National Cancer Database(NCDB) มีข้อมูลผู้ป่วยกลุ่มโรคนี้ 405ราย, และ the Survival, Epidemiology, and End Reaults(SEER)มีข้อมูลผู้ป่วยฯ 405 ราย, เป็นข้อมูลในช่วง ค.ศ. 2004-2014 และได้ตีพิมพ์เผยแพร่การศึกษาทางอินเทอร์เนทในวารสารการแพทย์ Clinical Oncology ฉบับเดือนกันยายน ค.ศ. 2019
การศึกษาพบว่า มีผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดวิธีการเดียว ประมาณ40% และได้รับทั้งผ่าตัดร่วมกับฉายรังสีรักษาประมาณ 45% ซึ่งการฉายรังสีฯร่วมกับผ่าตัด แพทย์นิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตั้งแต่ ค.ศ. 2004 และเมื่อสหรัฐฯมีการใช้รังสีโปรตอนแพร่หลาย ผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็มักได้รับรังสีรักษาเป็นชนิด รังสีโปรตอน ทั้งนี้ อัตรารอดที่ห้าปีของผู้ป่วย ประมาณ 76.9-79.8%
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า:
• ผู้มีอัตรารอดที่ห้าปีสูงกว่าคือกลุ่ม
o ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมกับการฉายรังสีรักษา
o ผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 60 ปี
• เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดรักษาโรคนี้ที่เกิดตำแหน่งต่างๆของกระดูกสันหลังพบว่า การผ่าตัดที่กะโหลกส่วนฐานสมองใช้เวลาผ่าตัดนานกว่า, มีผลข้างเคียงสูงกว่า, และผู้ป่วยมีระยะเวลาอยู่ในโรงพยาบาลนานกว่า
ผู้เขียน: การรักษาคอร์โดมาในบ้านเรา เช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกา คือ ใช้การผ่าตัดเป็นหลัก ส่วนจะร่วมกับการฉายรังสีรักษาหรือไม่ ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผ่าตัด
แหล่งข้อมูล:
- Clinical Oncology 2019;31(9):e149-e159(abstract)
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/30220042 [ 2020,Jan12].
- https://www.urmc.rochester.edu/neurosurgery/specialties/brain-spinal-tumor/conditions/chordoma.aspx [ 2020,Jan12].
- Practical Radiation Oncology 2019; 9(4): e356-e361 (abstract)