คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลข้างเคียงทางระบบประสาทจากยาซีสพลาตินในมะเร็งอัณฑะ

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-338

มะเร็งอัณฑะเป็นมะเร็งพบไม่บ่อย รายงานจากประเทศตะวันตกพบได้ 6.7-73รายต่อประชากรชาย 1 แสนคน ส่วนในประเทศไทย รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบ 0.7รายต่อประชากรชายไทย 1 แสนคน เป็นมะเร็งพบในชายวัยหนุ่มคือช่วงอายุประมาณ 15-35 ปี

การรักษามะเร็งอัณฑะในระยะลุกลามหรือระยะแพร่กระจายจะเป็นการรักษาด้วยการผ่าตัดอัณฑะออกร่วมกับยาเคมีบำบัด ซึ่งมะเร็งอัณฑะมีการพยากรณ์โรคที่ดีมาก รวมถึงในโรคระยะแพร่กระจาย ผู้ป่วยก็มีโอกาสรักษาหาย/อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 50-70%ทั้งนี้เพราะเซลล์มะเร็งตอบสนองได้ดีมากต่อยาเคมีบำบัดโดยเฉพาะยาชนิด ซีสพลาติน(Cisplatin) ซึ่งเป็นยาหลักในการรักษามะเร็งนี้

ผลข้างเคียงระยะยาวของ Cisplatin คือ ผลข้างเคียงต่อระบบประสาท ได้แก่ ปลายประสาทอักเสบ โดยเฉพาะที่ปลายเท้าและปลายมือ (อาการเช่น ชา รู้สึกคล้ายเข็มทิ่ม และ/หรือปวดเรื้อรัง) และต่อประสาทหูที่ทำให้การได้ยินลดลงจนอาจถึงขั้นหูหนวกได้ ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และดังกล่าวแล้วว่า มะเร็งอัณฑะเป็นมะเร็งในวัยหนุ่ม และมีการพยากรณ์ที่ดีมาก จึงเพิ่มโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงระยะยาวต่อระบบประสาท(Neurotoxicity)ได้ แพทย์จึงต้องการทราบว่า ผลข้างเคียงนี้มีอัตราเกิดเท่าไร และมีอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง เพื่อนำไป ป้องกัน และดูแลรักษาผู้ป่วยแต่เนิ่นๆเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย

การศึกษานี้ เป็นการศึกษาผู้ป่วยมะเร็งอัณฑะในจังหวัด Ontario ประเทศแคนาดา

เป็นการศึกษาแบบย้อนหลังที่เรียกว่า Population-based, retrospective cohort study จากทะเบียนมะเร็งของจังหวัดนี้ เป็นการศึกษาของแพทย์และคณะวิทยาศาสตร์แคนาดา นำโดย นักวิจัยชื่อ M J Raphael แห่งสถาบันมะเร็ง Queen’s Cancer Research Institute, Kingston ประเทศ แคนาดา วัตถุประสงค์เพื่อ

  • เปรียบเทียบผู้ป่วยมะเร็งอัณฑะ2กลุ่มที่ได้รับยาเคมีบำบัด/Cisplatin กับกลุ่มที่ไม่ได้ยาเคมีบำบัด ถึงอัตราเกิดผลข้างเคียงต่อระบบประสาท และอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงนี้

ซึ่งได้รายงานการศึกษานี้ในวารสารการแพทย์ Clinical Oncology ฉบับเดือน กันยายน ค.ศ. 2019

ผู้ป่วยกลุ่มศึกษาทั้ง2กลุ่มอยู่ในช่วงค.ศ. 2000-2010 แต่ที่มีรายละเอียดถึงชนิดและจำนวนรอบ/cycle ของยาเคมีบำบัดจะเริ่มในปี ค.ศ. 2005-2010 ซึ่งมีผู้ป่วยมะเร็งอัณฑะทั้งหมด 2,650 ราย ทุกรายได้รับการผ่าตัดเอาอัณฑะด้านเป็นมะเร็งออก ซึ่ง 920ราย(33%) ได้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย ผลการศึกษาพบว่า

  • กลุ่มรักษาด้วยผ่าตัดอัณฑะวิธีการเดียว

      o 2 ปีก่อนการผ่าตัดฯ พบผู้ป่วยมีอาการทางระบบประสาทอยู่ก่อนแล้ว 18%

      o เมื่อติดตามไป 2ปีหลังผ่าตัด พบอาการทางระบบประสาท 18% ซึ่งไม่ต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติ(p=0.523)กับก่อนผ่าตัด

  • ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้การรักษาทั้งผ่าตัดฯและยาเคมีบำบัด พบ

      o ที่2ปีก่อนการรักษา มีอาการทางระบบประสาท 16%

      o ที่2ปีหลังการรักษา พบอาการทางระบบประสาทสูงกว่าอย่างมีความสำคัญทางสถิติ คือ 25% , p<0.001

เมื่อศึกษา หาปัจจัยต่อการเกิดผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด ได้ศึกษาผู้ป่วยช่วงที่มีข้อมูลรายละเอียดของยาเคมีบำบัดคือ ช่วงค.ศ. 2005-2010 พบปัจจัยเสี่ยงที่มีความสำคัญทางสถิติ (p=0.013) คือ ปริมาณทั้งหมดของยาเคมีบำบัด/จำนวนรอบของยาเคมีบำบัด ดังนี้

  • ในกลุ่มที่ได้ยาเคมีบำบัด 4 รอบ: อัตรามีอาการทางระบบประสาทที่ 2 ปีก่อนการรักษาเป็น 17% อัตราเกิดอาการทางระบบประสาทที่ 2ปีหลังรักษาคือ 37%
  • ในกลุ่มผู้ได้ยาเคมีบำบัด 3รอบ: อัตรามีอาการทางระบบประสาทที่ 2 ปีก่อนการรักษาเป็น 17% อัตราเกิดอาการทางระบบประสาทที่ 2ปีหลังรักษาคือ 28%
  • ในกลุ่มผู้ได้ยาเคมีบำบัด 1-2รอบ: อัตรามีอาการทางระบบประสาทที่ 2 ปีก่อนการรักษาน้อยกว่า 13% อัตราเกิดอาการทางระบบประสาทที่ 2ปีหลังรักษาคือ 20%

คณะผู้ศึกษาจึงสรุปว่า ผลข้างเคียงต่อระบบประสาทในระยาวของผู้ป่วยมะเร็งอัณฑะ คือ การได้รับยาเคมีบำบัด และปัจจัยเสี่ยงสูงขึ้นตามจำนวนรอบของยาเคมีบำบัด ดังนั้น แพทย์ผู้รักษาจึงควรตระหนัก และให้การดูแล/ คำแนะนำผู้ป่วยเพื่อการป้องกันหรือลดอาการรุนแรงของผลข้างเคียงนี้ และผู้ป่วยเองก็ควรต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และหมั่นสังเกตอาการตนเอง เมื่อพบเริ่มมีอาการทางระบบประสาท ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด

แหล่งข้อมูล:

  1. International Journal of Radiation Oncology Biology and Physics. 2019; 105(1): 64-72 (abstract)
  2. http://haamor.com/th/%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%9A/ [2019, December 3].