คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการรักษาภาวะท้องมานชนิด น้ำเหลืองไขมันปน(Chyle)ด้วยการฉายรังสีรักษา

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-336

      

      ภาวะมีสารน้ำชนิดน้ำเหลืองไขมันปนที่เรียกว่า Chyle ที่เกิดมากผิดปกติในช่องท้อง ส่งผลทำให้ช่องท้องขยายใหญ่ขึ้นต่อเนื่องที่เรียกว่าท้องมาน(Chylous ascites) เป็นภาวะผิดปกติที่พบน้อย และมักมีสาเหตุจากมีการอุดตัน หรือการฉีกขาดของท่อน้ำเหลืองประธาน (Cisterna chili, และ/หรือ Thoracic duct) ที่รับน้ำเหลืองที่มีไขมันปน(Chyle)จากช่องท้องและขาทั้ง2ข้างเพื่อนำกลับเข้าสู่หลอดเลือดดำใหญ่ในช่องท้องและหรือช่องอก ซึ่งการรักษาทั่วไปของภาวะนี้คือ การเจาะดูดน้ำเหลืองฯนี้ออกเป็นครั้งคราวตามอาการแน่นท้องของผู้ป่วย, หรือ การผ่าตัดซ่อมท่อน้ำเหลืองประธานที่อุดตันหรือฉีกขาด หรือการผ่าตัดระบายน้ำเหลืองฯในช่องท้องให้ไหลลับเข้าหลอดเลือดดำโดยตรง(Peritoneovenous shunting)ไม่ต้องผ่านท่อน้ำเหลืองประธาน อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางราย การรักษาด้วยวิธีต่างๆดังกล่าวไม่ได้ผล แพทย์จึงศึกษาใช้วิธีการอื่น

      การฉายรังสีรักษาเป็นการรักษาที่มีผลข้างเคียงให้เกิดพังพืดในเนื้อเยื่อที่ได้รับรังสีรักษา แพทย์จึงนำการฉายรังสีรักษามารักษาผู้ป่วยกรณีนี้ และได้รายงานผลในวารสารการแพทย์ ชื่อ Practical Radiation Oncology ฉบับเดือน พค-มิย 2562 รายงานโดยคณะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา นำโดย นพ. Simon Brown แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา มหาวิทยาลัย Oregon Health & Science มลรัฐ Oregon

      ผู้ป่วย1รายที่ใช้การรักษาด้วยการฉายรังสี เป็นผู้ป่วยชาย อายุ 74 ปี ภาวะที่เกิดมีสารน้ำChyleในช่องท้องเรื้อรัง เกิดหลังได้รับการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคกรดไหลย้อย ด้วยวิธี Laparoscopic Nissen fundoplication แล้วเกิดผลข้างเคียงจากมีการฉีกขาดของท่อน้ำเหลืองประธานในช่องท้อง และการรักษาวิธีต่างๆทั่วไปดังได้กล่าวในตอนต้นไม่ได้ผล แพทย์จึงตัดสินใจให้การรักษาด้วยการฉายรังสีรักษาในปริมาณรังสีขนาดต่ำ โดยฉายครอบคลุมต่อมน้ำเหลืองรอบหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้อง(Periaortic nodes)และท่อน้ำเหลืองประธาน Cisterna chili และ Thoracic duct, ขนาดปริมาณรังสีคือ 1 Gy/วัน รวมทั้งหมด 10วัน/10Gy

      ผลการรักษา คือน้ำ Chyle ในช่องท้องค่อยๆลดปริมาณลงจนไม่จำเป็นต้องเจาะดูดระบาย Chyle ออกจากช่องท้อง และกลับเป็นปกติในระยะเวลา 8 เดือนหลังผู้ป่วยได้รับรังสี ซึ่งเมื่อติดตามโรคไปได้ 18 เดือนก็ยังไม่พบโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ นอกจากนั้น ยังไม่พบว่าผู้ป่วยมีผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากรังสีฯแต่อย่างใดเพราะปริมาณรังสีที่ใช้รักษาต่ำมาก

      คณะผู้ศึกษาจึงสรุปว่า การฉายรังสีรักษาปริมาณต่ำครอบคลุมต่อมน้ำเหลือง Periaoric nodes, Cisterna chili, และ Thoracic duct สามารถรักษาภาวะท้องมานจากไขมันปน(Chylous ascites)ซึ่งเกิดจากมีพยาธิสภาพที่ Cisterna chili, และ Thoracic duct ได้ โดยควรเลือกใช้เมื่อการรักษาวิธีมาตรฐานอื่นๆไม่ได้ผล

แหล่งข้อมูล:

  1. Practical Radiation Oncology. 2019;9(3):153-157 (abstract)