คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการเฝ้าติดตามอาการ
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 2 ธันวาคม 2562
- Tweet
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะเริ่มแรก มีหลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัดต่อมลูกหมากและต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน, การฉายรังสีรักษา, การใส่แร่, และการเฝ้าติดตามอาการผู้ป่วยที่เรียกวิธีรักษานี้ว่า Active surveillance(AI)ซึ่งใช้วิธีนี้เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากวิธีรักษาอื่นๆ ที่สำคัญ คือ ปัญหาทางการปัสสาวะ, ความรู้สึกทางเพศหมดไป, โรคกระดูกพรุน,
ซึ่ง AI ทั่วไปคือการที่ผู้ป่วยต้องพบแพทย์ต่อเนื่องตลอดไปตามแพทย์นัด ร่วมกับการตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูค่า สารมะเร็ง PSA มักเป็นทุก 3-6เดือน และมีการตัดชิ้นเนื้อจากต่อมลูกหมากเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาตามดุลพินิจของแพทย์ ทั่วไปแนะนำครั้งแรกที่ประมาณ 18 เดือนหลังการวินิจฉัยครั้งแรก
คณะแพทย์ต้องการทราบถึงประสิทธิผลของการรักษาด้วยวิธี AIนี้ว่าผู้ป่วยได้ปฏิบัติตามการนัดหมายของแพทย์หรือไม่ เพราะการมาพบแพทย์ตามนัดเป็นหัวใจของการรักษาวิธีAI เพื่อเมื่อโรคเริ่มลุกลามแพทย์จะได้ตรวจพบแต่เนิ่นๆ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่ทันท่วงที
การศึกษานี้ได้นำเสนอในการประชุมวิชาการประจำปีของแพทย์โรคมะเร็ง สหรัฐอเมริกา(ASCO meeting)เมื่อ 31พค-4มิย 2019 ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา (Abstract ที่6512) โดยเป็นการศึกษาจากคณะแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆของรัฐ North Carolina นำโดย พญ. Sabrina Peterson และเป็นการศึกษาวิธีที่เรียกว่า Population- Based Cohort study จากข้อมูลในทะเบียนโรคมะเร็งของรัฐนี้
ผลการศึกษา:
- ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่เลือกการรักษาด้วยวิธี AI อยู่ในช่วงปี 2011-2013 มีทั้งหมด 346ราย ทั้งหมดเป็นผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงต่ำถึงต่ำปานกลางต่อการที่โรคจะลุกลามรุนแรง
- มีผู้ป่วยมาติดตามผลการรักษาตามแพทย์นัดเพียง 32%, 58%ได้รับการตรวจค่า PSAตามตารางเวลาที่แพทย์กำหนด, และได้รับการตัดชิ้นเนื้อซ้ำ 45%
- ผู้ป่วยมาติดตามโรคตามแพทย์นัดในปีแรก 97%, ลดลงเหลือ 67%ในปีที่2
- ในปีที่2ของAI, 16% ขอเปลี่ยนการรักษาจากAI เป็นการรักษาด้วยวิธีต่างๆดังกล่าวที่ไม่ใช่ AI โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยอายุน้อย ทั้งนี้ไม่ขึ้นกับ ฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา หรือเชื้อชาติ
- ในช่วง 2ปี 94%ของผู้ป่วย ไม่รู้สึกเสียใจที่เลือกรักษาด้วยวิธีAI
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า การแนะนำผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะเริ่มแรกให้รักษาด้วยวิธีAI โดยไม่มีกระบวนการพิเศษแยกจำเพาะในการติดต่อ/ติดตามผู้ป่วย ให้ผลการติดตามโรคตรงตามตารางการรักษาเพียง 32%
อนึ่ง ในที่ประชุม ได้เสริมข้อมูลการศึกษานี้ว่า ถ้าจะเลือกใช้AI ควรต้องเลือกผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับการรักษาวิธีอื่นได้ คือ จากสุขภาพของผู้ป่วย และแพทย์ผู้แนะนำวิธี AI ควรต้องมีระบบในการติดตาม/ติดต่อผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้ามารับการตรวจติดตามโรคตรงตามตารางนัดหมายของแพทย์
แหล่งข้อมูล: