คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลของยาเคมีบำบัดรักษามะเร็งเต้านมในผู้สูงอายุ
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 11 พฤศจิกายน 2562
- Tweet
การรักษามะเร็งเต้านมในผู้หญิงในระยะที่โรคยังไม่ลุกลามรุนแรงคือ การผ่าตัด ซึ่งหลังการผ่าตัดเมื่อมีข้อบ่งชี้ว่า มีปัจจัยเสี่ยงที่โรคจะย้อนกลับเป็นซ้ำสูง แพทย์โรคมะเร็งจะให้การรักษาเสริมการผ่าตัด คือ ยาเคมีบำบัด รังสีรักษา และ/หรือยาฮอร์โมน ทั้งนี้เป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
กรณีของการต้องเสริมการผ่าตัดด้วยยาเคมีบำบัดในผู้สูงอายุ อายุตั้งแต่70ปีขึ้นไป(70+) ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีโรคประจำตัว และมีพื้นฐานสุขภาพโดยรวมไม่ค่อยดีนัก แพทย์จึงต้องการทราบว่า ยาเคมีบำบัดมีประโยชน์จริงไหมในผู้ป่วยกลุ่มนี้(เพราะผู้ป่วยมักทนยาฯได้ไม่ดี)ที่สุขภาพยังแข็งแรงที่สามารถรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดครบถ้วนตามตารางการรักษา จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้
การศึกษานี้ เป็นการศึกษาจากคณะนักวิทยาศาสตร์จากประเทศอังกฤษ นำโดย S.E. Ward แห่ง Department of Health Economics and Decision Science, School of Health and Related Research, University of Sheffield, Sheffield, UK และได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ชื่อ Clinical Oncology ฉบับเดือน กรกฎาคม 2019
การศึกษานี้เป็นการศึกษาย้อนหลังจากทะเบียนมะเร็งในปี ค.ศ. 2002-2012 ศึกษามะเร็งเต้านมในผู้หญิงสูงอายุตั้งแต่อายุ 70ปีขึ้นไปที่เป็นมะเร็งฯในระยะโรคเริ่มมีการลุกลาม จำนวนทั้งหมด 11,735ราย พบว่าผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ว่า โรคมีโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำสูง และได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเสริมการผ่าตัดที่ได้รับยาฯครบถ้วนตามตารางการรักษาของแพทย์ มีผลการรักษาที่ดีกว่า กลุ่มไม่ได้ยาเคมีบำบัด โดยมีอัตรารอดชีวิตจากโรคมะเร็งสูงกว่า
คณะผู้ศึกษาจึงสรุปว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในผู้หญิงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ที่ระยะโรคเริ่มมีการลุกลามและมีข้อบ่งชี้ว่า โรคมีโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำสูง จะได้ประโยชน์จากการรักษาเสริมการผ่าตัดด้วยยาเคมีบำบัด แต่ทั้งนี้ แพทย์ผู้รักษาต้องประเมินความเสี่ยงเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประสิทธิผลจากการรักษาอย่างแท้จริง คือ ต้องมีข้อบ่งชี้การใช้ยาเคมีบำบัดที่ชัดเจนร่วมกับมีสุขภาพแข็งแรงพอที่จะสามารถรับการรักษาด้วยยาเคมีได้ครบถ้วนตามแผนการรักษาของแพทย์
แหล่งข้อมูล:
- Clinical oncology. 2019;31(7):444–452 (abstract)