คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการติดตามผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังครบการรักษาด้วยการตรวจแมมโมแกรม

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-325

      

      ปัจจุบัน ภายหลังครบการรักษาแล้ว ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม(invasive breast cancer)ระยะที่โรคยังไม่แพร่กระจายทางกระแสโลหิต(โรคระยะ1-3)และโรคระยะศูนย์(ระยะ0, ระยะยังไม่จัดเป็นมะเร็งคือ เป็น noninvasive)มักได้รับการตรวจติดตามผลการรักษาด้วย การตรวจร่างกาย, การตรวจคลำเต้านม, และการตรวจแมมโมแกรม/การตรวจภาพรังสีเต้านม

      ทั้งนี้การตรวจติดตามโรคหลังรักษาด้วยแมมโมแกรม ทั่วไปองค์กรแพทย์ด้านโรคมะเร็งแนะนำให้ตรวจ ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งโรคมะเร็งที่ย้อนกลับเป็นซ้ำในช่วง1ปีระหว่างการตรวจแมมโมแกรมแต่ละครั้งที่ได้ผลตรวจเป็นลบ(ไม่พบมะเร็ง) เรียกว่า ‘Interval invasive breast cancer’ จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้ ที่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ต้องการทราบว่า การตรวจแมมโมแกรมทุกปีช่วยวินิจฉัยโรคย้อนกลับเป็นซ้ำที่เต้านมชนิด Interval invasive breast cancer ได้ในอัตราอย่างไร และมีอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง เพื่อนำมาปรับปรุงแนวทางการติดตามโรคต่อไป

      การศึกษานี้ดำเนินการโดยคณะนักวิทยาศาสตร์จากภาควิชารังสีวิทยา มหาวิทยาลัย Washington University สหรัฐอเมริกา นำโดย Dr. Janie M. Lee และได้ตีพิมพ์ผลงานในวารสารการแพทย์ชื่อ JCO(the Journal of Clinical Oncology)ฉบับวันที่ 10กรกฎาคมค.ศ.2018

      การศึกษานี้เป็นการศึกษาในแมมโมแกรมของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสตรีที่รอดชีวิต 18,366 ราย โดยมีตรวจแมมโมแกรมรวมทั้งหมด 65,084 ครั้ง(คนเดียวตรวจได้หลายครั้ง) ทั้งหมดเป็นมะเร็งเต้านมระยะ0และระยะ1-3ในช่วงปีค.ศ.1996-2012

      ผลตรวจพบว่า มีผู้ย้อนกลับเป็นซ้ำ 334 รายในผู้ป่วยโรคระยะ1-3 และ140รายในโรคระยะ0 รวมเป็นตรวจพบมะเร็งกลับเป็นซ้ำ 7.3รายต่อการตรวจ1,000ครั้ง โดยพบโรคกลับเป็นซ้ำฯ ภายใน1ปีหลังตรวจติดตามด้วยแมมโมแกรมให้ผลเป็นลบ คิดเป็น 2.9 รายต่อการตรวจ1,000ครั้ง ซึ่งในช่วง5 ปีคิดเป็น 0.8-2.3%(ค่ากึ่งกลาง/ median=1.4%)

      ปัจจัยเสี่ยงต่อการกลับเป็นซ้ำในช่วงระหว่าง1ปีของการตรวจแมมโมแกรมที่ได้ผลเป็นลบ คือ

  • เซลล์มะเร็งเป็นชนิดไม่จับฮอร์โมนเอสโตรเจน
  • เซลล์มะเร็งเป็นชนิดไม่จับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน
  • กลุ่มผู้ป่วยเคยมีมะเร็งกลับเป็นซ้ำมาก่อน และ
  • กลุ่มผ่าตัดเก็บเต้านมไว้ แต่ไม่มีการรักษาต่อเนื่องด้วยรังสีรักษาที่เต้านม

      คณะผู้ศึกษาสรุปว่า จากปัจจัยที่ศึกษาพบ ทำให้แพทย์สามารถพยากรณ์ได้ตั้งแต่แรกรักษาว่า ผู้ป่วยกลุ่มใดมีโอกาสเกิดมะเร็งกลับเป็นซ้ำที่เต้านมภายใน1ปีหลังตรวจแมมโมแกรมได้ผลลบ แพทย์จึงสามารถนำข้อมูลที่ศึกษาได้นี้ เป็นแนวทางในการรักษาเพื่อลดโอกาสโรคกลับเป็นซ้ำได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

แหล่งข้อมูล:

  1. JCO 2018;36(20): 2070-2077 (abstract)