คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมย้อนกลับ

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-324

      

      คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมย้อนกลับเป็นซ้ำกรณีรักษาด้วยผ่าตัดแบบเก็บเต้านมหลังให้ยาเคมีบำบัดนำก่อนผ่าตัด

      

      วิธีรักษามะเร็งเต้านมสตรีในปัจจุบันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในกรณีก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่และมีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรักแร้แล้ว ในอดีตเป็นข้อจำกัดในการรักษาด้วยการผ่าตัดแบบเก็บเต้านมไว้(Breast conserving therapy ย่อว่า BCT) แต่ปัจจุบัน ด้วยประสิทธิภาพของยาเคมีบำบัด แพทย์จึงสามารถทำการผ่าตัดเก็บเต้านมได้ในมะเร็งกลุ่มนี้ โดยให้ยาเคมีบำบัดนำก่อนผ่าตัด และจะผ่าตัดตามเมื่อก้อนมะเร็งยุบลงจนผ่าตัดได้หมดด้วยตาเปล่า

      แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ จึงต้องการทราบ ผลการรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัดนำก่อนนี้ มีผลต่อการย้อนกลับเป็นซ้ำที่เต้านม(local recurrence/LR) หรือการย้อนกลับเป็นซ้ำทั้งที่เต้านมและที่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้(locoregional recurrence /LRR)หรือไม่หลังผ่าตัดเก็บเต้านมไว้/BCT รวมทั้งต้องการทราบว่าอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด LR หรือ LRR ทั้งนี้เพื่อนำมาใช้เป็นข้อบ่งชี้และในการดูแลรักษาเสริมเพิ่มเติม(เช่น การฉายรังสีรักษา) และในการติดตามผลการรักษาระยะยาวในมะเร็งเต้านมผู้ป่วยกลุ่มนี้

      การศึกษานี้ โดยคณะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จากประเทศสวีเดน นำโดย นพ. Antonios Valachis จากมหาวิทยาลัย University Uppsala สวีเดน และได้ตีพิมพ์ผลงานในวารสารการแพทย์ชื่อ Cancer ฉบับ 15 กรกฎาคม 2018

      ทั้งนี้ เป็นการศึกษาจากข้อมูลรวมของการศึกษาต่างๆที่รักษาโรคในลักษณะเดียวกันรวมทั้งหมด 9 การศึกษา(Meta analysis) ซึ่งผู้ป่วยที่ศึกษามีทั้งหมด 4,125 ราย ผลพบว่า เมื่อติดตามผู้ป่วยต่อเนื่อง10ปี

  • อัตราย้อนกลับเป็นซ้ำเฉพาะที่เต้านม(LR)=6.5%
  • อัตราย้อนกลับเป็นซ้ำทั้งที่เต้านมและต่อมน้ำเหลืองรักแร้(LRR)=10.3%

      ก. กรณีโรคกลับเป็นซ้ำเฉพาะที่เต้านมนี้ ปัจจัยเสี่ยงมี4ประการคือ

      1. เซลล์มะเร็งเป็นชนิด ไม่จับฮอร์โมนเอสโตรเจน

      2. ผู้ป่วยมีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรักแร้แล้วตั้งแต่ก่อนเริ่มรักษา

      3. หลังเคมีบำบัด+ผ่าตัด ยังมีเซลล์มะเร็งตกค้างในต่อมน้ำเหลืองรักแร้จากการตรวจทางพยาธิวิทยา

      4. หลังเคมีบำบัด+ผ่าตัด พบเซลล์มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรักแร้4-9ต่อม หรือ เข้าต่อมน้ำเหลืองใต้กระดูกอก หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้า

      ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ ถ้าหลังเคมีฯ+ผ่าตัด

  • ไม่มีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ในก้อนมะเร็ง หรือในต่อมน้ำเหลืองที่ผ่าตัดได้ เรียกว่า ‘กลุ่มปัจจัยเสี่ยงต่ำ’ มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคย้อนกลับที่เต้านม/LR น้อย อัตราโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ 4%
  • มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้อ 1-3 จัดว่ามี ‘ปัจจัยเสี่ยงเกิดLR ปานกลาง’ เกิดLR =7.9%
  • มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวหลายข้อร่วมกัน หรือมีปัจจัยเสี่ยงข้อ4 จัดว่ามี ‘ปัจจัยเสี่ยงเกิดLRสูง’ พบเกิด LR=20.4%

      ข. ส่วนกรณีของโรคกลับเป็นซ้ำทั้งที่เต้านม+ต่อมน้ำเหลือง(LRR) คือมีปัจจัย ข้อ1-4 ดังกล่าว และยังเพิ่มมาอีก2ปัจจัย ได้แก่

      5. ก่อนรักษา ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ มากกว่า 5 ซม. แล/หรือลุกลามเข้าผิวหนัง และ/หรือลุกลามลึกถึงกล้ามเนื้อใต้ต่อเต้านม

      6. หลังเคมี+ผ่าตัด ไม่ว่าก้อนมะเร็งขนาดเท่าไร การตรวจทางพยาธิวิทยายังพบเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ในเต้านม

      คณะแพทย์ผู้ศึกษา สรุปผลการศึกษาว่า มีความเป็นไปได้ที่จะรักษาผู้ป่วยที่โรคมะเร็งลุกลามจนไม่สามารถผ่าตัดแบบเก็บเต้านมไว้ได้ แต่ถ้าผู้ป่วยมีความประสงค์จะเก็บเต้านมไว้ ก็สามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาเคมีบำบัดนำก่อนการผ่าตัด

      ในบ้านเรา การรักษาวิธีนี้มีรักษาเป็นมาตรฐานอยู่แล้วซึ่งการรักษาต้องพิจารณาผู้ป่วยเป็นรายๆไป และถ้าหลังผ่าตัด ผลพยาธิวิทยาก้อนเนื้อและต่อมน้ำเหลืองรักแร้พบมีปัจจัยเสี่ยงเกิด LR หรือ LRR แพทย์มักแนะนำให้รักษาต่อเนื่องด้วยรังสีรักษา ร่วมกับยาฮอร์โมน(กรณีเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยเป็นชนิดจับฮอร์โมน)

แหล่งข้อมูล:

  1. Cancer 2018;124(14):2923-30