คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การรักษาเสริมการผ่าตัดในมะเร็งช่องปาก

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-322

      

      มะเร็งช่องปากเป็นมะเร็งของผู้ใหญ่ พบได้เรื่อยๆไม่ถึงกับบ่อยมาก พบทั่วโลก ในทุกเพศ เป็นมะเร็งมักพบในอายุเกิน45-50 ปีขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงคือ สูบบุหรี่ ดื่มสุรา กินหมาก อมเมี่ยง สุขอนามัยช่องปากไม่ดี และประมาณ90%เป็นมะเร็งคาร์ซิโนมาชนิด squamous cell carcinoma(SCC)

      วิธีรักษาหลักของมะเร็งช่องปาก คือ การผ่าตัด ซึ่งถ้าตัดก้อนมะเร็งออกได้หมดอย่างกว้างขวาง(Clear margin) มักไม่จำเป็นต้องให้การรักษาวิธีอื่นเสริม ซึ่งทั่วไปได้แก่ รังสีรักษา และอาจร่วมกับยาเคมีบำบัด แต่การรักษาเสริมจะพิจารณาให้ในผู้ป่วยเมื่อตรวจก้อนเนื้อทั้งหมดหลังผ่าตัด ด้วยกล้องจุลทรรศน์(การตรวจทางพยาธิวิทยา)แล้วพบว่า ยังหลงเหลือเซลล์มะเร็งในแผลผ่าตัด(Positive margin), หรือ เซลล์มะเร็งอยู่ติดแผลผ่าตัดมาก(Close margin)โดยเฉพาะในโรคระยะที่1และ2 ที่ก้อนมะเร็งขนาดโตไม่เกิน4ซม., และยังไม่มีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง

      แพทย์และนักวิทยาศาสตร์จึงต้องการทราบว่า อัตรารอดชีวิตที่ห้าปีของผู้ป่วยทั้ง3กลุ่มเป็นอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อมูลว่า การรักษาเสริมน่าจะมีประโยชน์หรือไม่ เพื่อใช้เป็นแนวทาง การรักษาผู้ป่วยทั้ง3กลุ่มได้อย่างเหมาะสม

      การศึกษานี้ดำเนินการโดยแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จาก the Oral Cancer International Study Group, Rambam Healthcare Campus, Technion-Israel Institute of TechnologyHaifa ประเทศอิสราเอล นำโดย นพ. Eran Fridman และได้รายงานการศึกษานี้ในวารสารการแพทย์ชื่อ Cancer เมื่อ 15 กรกฎาคม 2018

      โดยเป็นการศึกษา ผู้ป่วยมะเร็งช่องปากSCC ในโรคระยะ1และ2 ทั้งหมด 1,257ราย หลังการผ่าตัดตรวจพบว่า ผ่าตัดได้กว้าง Clear margin =1,019 ราย (81.1%), Close margin 205 ราย(16.3%), และ Positive margin 32 ราย(2.6%), ซึ่งผลการศึกษาพบว่า

  • อัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยที่5ปี=80%ในกลุ่ม Clear margin, 52%ในกลุ่ม Close margin, และ63%ในกลุ่ม Positive margin ซึ่งต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติ(p=0.0001)
  • ปัจจัยต่ออัตราอยู่รอดคือ อายุ, การลุกลามของเซลล์มะเร็งลงในเนื้อเยื่อที่อยู่ลึก, และผลพยาธิวิทยาก้อนเนื้อหลังผ่าตัดที่เป็น Clear margin, Close margin, หรือ Positive margin
  • ในกลุ่ม Close margin, หรือ Positive margin ที่ให้การรักษาเสริมหลังผ่าตัด พบว่า ช่วยเพิ่มอัตรารอดชีวิตอย่างสำคัญทางสถิติ p=0.002-0.03 ที่รวมถึงช่วยลดอัตราโรคเกิดเป็นซ้ำ

      คณะผู้ศึกษา ได้สรุปผลการศึกษาว่า ในมะเร็งช่องปากSCCระยะที่1,2 ถ้าหลังผ่าตัดแล้วผลตรวจทางพยาธิวิทยาพบว่ามี Close margin หรือมี Positive margin จะมีอัตรารอดชีวิตต่ำกว่า และมีอัตราเกิดโรคเป็นซ้ำสูงขึ้น อย่างมีความสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ผ่าตัดได้กว้าง(Clear margin) ดังนั้นการให้การรักษาเสริมการผ่าตัดในผู้ป่วยกลุ่ม Close margin หรือ Positive margin จึงน่าจะมีประโยชน์ช่วยเพิ่มอัตรารอด และลดอัตราเกิดโรคเป็นซ้ำในผู้ป่วย2กลุ่มหลังนี้ได้

      ทั้งนี้ ในประเทศไทย การรักษามะเร็งช่องปากกลุ่มนี้ มีแนวทางเช่นเดียวกับการศึกษานี้ คือให้การผ่าตัดอย่างกว้างเป็นหลัก แต่กรณีผลการตรวจทางพยาธิวิทยาก้อนเนื้อหลังผ่าตัดพบว่ามี Close margin หรือมี Positive margin แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาเสริมต่อเนื่องด้วย รังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด ทั้งนี้เป็นไปตามความสมัครใจของผู้ป่วยและครอบครัวร่วมด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. Cancer 2018;124:2948‐55 (abstract)