คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะยังไม่ลุกลามเข้าชั้นกล้ามเนื้อ

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-317

      

      มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นมะเร็งพบบ่อยในคนไทย โดยพบได้4.5รายต่อชายไทย1แสนคน และ1.2รายต่อหญิงไทย1แสนคน และปัจจุบันเมื่อมีความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะเมื่อมีปัสสาวะเป็นเลือด รวมถึงการตรวจหามะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้ด้วยการตรวจเซลล์มะเร็งในน้ำปัสสาวะร่วมกับการส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะทำให้ในคนไทย แพทย์ตรวจพบมะเร็งกระเพาะปัสสาวะในระยะต้นๆที่โรคยังไม่ลุกลามเข้าชั้นกล้ามเนื้อได้มากขึ้น ซึ่งการรักษาโรคในระยะยังไม่ลุกลามฯนี้ มีหลายวิธี เช่น การผ่าตัดผ่านกล้องที่ผ่านเข้าทางท่อปัสสาวะ การรักษาด้วยการใส่ยาสารเคมีเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ และการใส่สารในกลุ่มกระตุ้นภูมิคุ้มกันเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ

      ปัจจุบัน การผ่าตัดผ่านกล้องฯที่เรียกว่า Transurethral resection of bladder tumor(TUR-BT) มีการผ่าตัดโดยใช้แสงขาว(WLI, White light imaging) และการผ่าตัดด้วยแสงตัวใหม่ที่ช่วยใหแพทย์มองเห็นตำแหน่งของรอยโรคมะเร็งได้ชัดเจนกว่าแสงขาว ที่เรียกว่าแสงNBI(Narrow band imaging) ทั้งนี้ ในมะเร็งฯระยะนี้ เมื่อมีการย้อนกลับเป็นซ้ำหลังผ่าตัด มักเกิดในช่วง3เดือนหลังผ่าตัด ซึ่งในต่างประเทศมีรายงานว่า การผ่าตัดด้วยแสงNBI ได้ผลการรักษาที่ลดอัตราการเกิดโรคย้อนกลับเป็นซ้ำที่3เดือนได้ดีกว่า

      คณะศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลรามาธิบดี นำโดย

      นพ. กันต์ บัวบาน จึงต้องการศึกษาเพื่อให้ทราบถึง ผลการผ่าตัดรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะที่โรคยังไม่ลุกลามเข้าชั้นกล้ามเนื้อในคนไทย เปรียบเทียบระหว่างการใช้แสงNBI กับ การใช้แสงขาวWLIว่าให้ผลต่างกันหรือไม่และอย่างไร โดยเป็นการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่าง และศึกษาไปข้างหน้า(Prospective randomized control trial) และผลการศึกษานี้ได้รายงานในวารสารการแพทย์ชื่อ จดหมายเหตุทางแพทย์ ฉบับประจำเดือน เมษายน 2018

      การศึกษานี้ดำเนินการในช่วง มกราคม 2015-สิงหาคม 2016 มีผู้ป่วยเข้าศึกษาในกลุ่มแสงWLI 31ราย(ชาย 20ราย หญิง11ราย)ค่ากึ่งกลางอายุ(Median) 66ปี, กลุ่มแสงNBI 44ราย(ชาย36ราย หญิง8ราย)ค่ากึ่งกลางอายุ 75ปี ทั้งนี้ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มมีลักษณะทางการแพทย์ เช่น โรคประจำตัว การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา ใกล้เคียงกัน

      หลังผ่าตัดพบว่า ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม มีลักษณะก้อนมะเร็งไม่ต่างกันทางสถิติ (p=0.15) และมีผลข้างเคียงจากการผ่าตัดไม่ต่างกันทางสถิติเช่นกัน(p=0.692) ผู้ป่วยส่วนใหญ่ทั้งสองกลุ่ม อยู่โรงพยาบาลไม่เกิน2วัน เฉลี่ยคือ 1วัน

      เมื่อติดตามผลที่3เดือน ในกลุ่มรักษาด้วยWLIพบโรคกลับเป็นซ้ำ 61.3% ส่วนกลุ่ม NBIพบโรคกลับเป็นซ้ำน้อยกว่าอย่างมีความสำคัฯทางสถิติ คือ 31.8% (p=0.011)

      คณะแพทย์ผู้ศึกษาสรุปว่า การศึกษาครั้งนี้ ให้ผลเช่นเดียวกับผลจากต่างประเทศ คือ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่การรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะโรคยังไม่ลุกลามเข้าชั้นกล้ามเนื้อด้วยการผ่าตัดผ่านการส่องกล้องผ่านทางท่อปัสสาวะด้วยแสงNGIให้ผลดีกว่าการผ่าตัดฯด้วยแสงขาวWLI

แหล่งข้อมูล:

  1. J Med Asso Thai 2018, 101(4):463-9