คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน ผลการรักษามะเร็งเต้านมในผู้ชาย

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-312

      

      ถึงแม้ผู้ชายจะมีเต้านมสองข้างเหมือนผู้หญิง แต่อัตราเกิดมะเร็งเต้านมฯน้อยกว่ามาก น้อยกว่าถึงประมาณ 100 เท่า โดยลักษณะอาการโรค, การดำเนินโรค, การวินิจฉัย, และวิธีรักษา, จะเช่นเดียวกับมะเร็งเต้านมของผู้หญิง ซึ่งผลการรักษามะเร็งเต้านมในผู้ชายมีรายงานน้อยมาก แต่ละการศึกษา ก็มีผู้ป่วยจำนวนน้อย ถ้าจำนวนผู้ป่วยมาก ก็มักเป็นการศึกษาร่วมกันในหลายโรงพยาบาล ซึ่งทำให้แพทย์/นักวิทยาศาสตร์/นักระบาดวิทยาไม่แน่ใจผลนัก จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้ ที่ศึกษาถึงผลการรักษามะเร็งเต้านมผู้ชาย ที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดเท่าที่เคยมีรายงานจากผู้ป่วยเพียงโรงพยาบาลเดียว

      การศึกษานี้ เป็นการศึกษาจากคณะนักวิทยาศาสตร์โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโทรอนโต Odette Cancer Centre, Sunnybrook Health Sciences Centre, University of Toronto, Toronto, Ontario ประเทศ แคนาดา นำโดยนักวิทยาศาสตร์ชื่อ B.A. Wan และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ชื่อ Clinical Oncology ฉบับประจำเดือนมิถุนายน 2018

      การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบย้อนหลังจากเวชรเบียนของโรงพยาบาลในช่วง ค.ศ. 1987- 2017 ซึ่งมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชายทั้งหมด 161ราย เฉลี่ยอายุอยู่ที่ 67 ปี(+/-11.2ปี) มัธยฐานของการติดตามโรค คือ 5.3ปี(ช่วง0–25ปี) มีผู้ป่วยเสียชีวิต 48ราย ในการนี้เสียชีวิตจากมะเร็งฯ 23 ราย มัธยฐานของการมีอัตรารอดชีวิต 19.9 ปี และพบปัจจัยสำคัญทางสถิติที่ส่งผลต่ออัตรารอดชีวิต คือ ขนาดก้อนมะเร็ง(P < 0.0001) และการมีโรคแพร่กระจายทางกระแสโลหิตตั้งแต่แรกวินิจฉัย/โรคระยะ 4 (P < 0.0001)

      ในกลุ่มผู้ป่วย 138 รายที่ ไม่มีโรคแพร่กระจายทางกระแสโลหิตตั้งแต่แรกวินิจฉัย/โรคระยะ1-3 ที่ภายหลังการรักษา พบมีโรคย้อนกลับเป็นซ้ำที่เต้านมและ/หรือที่ต่อมน้ำเหลือง11ราย มีโรคแพร่กระจายทางกระแสโลหิต 26ราย

      โดยพบปัจจัยสำคัญทางสถิติต่อการเกิดการย้อนกลับเป็นซ้ำที่เต้านมและ/หรือที่ต่อมน้ำเหลือง คือ การมีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่แรกวินิจฉัย (P = 0.01)

      ส่วนผู้ป่วยที่มีโรคแพร่กระจายทางกระแสโลหิตหลังการรักษา พบปัจจัยสำคัญทางสถิติ คือ ตั้งแต่แรกวินิจฉัย มีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองหลายต่อม(ผู้เขียน: ทางการแพทย์มักจัดเป็นกลุ่มที่มีต่อมน้ำเหลืองที่โรคลุกลามมากกว่า 3 ต่อมขึ้นไป) (P = 0.03) และก้อนมะเร็งแรกวินิจฉัยมีขนาดใหญ่/ทางการแพทย์มักจัดว่าเกิน2ซม.ขึ้นไป (P = 0.01)

      คณะผู้ศึกษา สรุปผลการศึกษาว่า ในมะเร็งเต้านมชาย ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี คือ ผู้ป่วยเมื่อแรกวินิจฉัยโรค มีขนาดของก้อนมะเร็งที่ใหญ่ และมีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองหลายต่อม

      จากการศึกษานี้ จะเห็นได้ว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้โรคมะเร็งเต้านมชายมีการย้อนกลับเป็นซ้ำ ทั้งที่เต้านม และ/หรือที่ต่อมน้ำเหลือง และ/หรือมีโรคแพร่กระจายทางกระแสโลหิต หรือ มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี คือ ระยะโรคมะเร็งแรกวินิจฉัยนั่นเองซึ่ง เช่นเดียวกับในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหญิง

แหล่งข้อมูล:

  1. Clinical Oncology 2018; 30(6):354–365