คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน เรื่องทั่วไของโรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมา
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 13 พฤษภาคม 2562
- Tweet
มัลติเพิลมัยอีโลมา(Multiple myeloma ย่อว่า MM) เป็นโรคมะเร็งของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งของไขกระดูก ที่เรียกว่า “พลาสมาเซลล์” (Plasma cell, เม็ดเลือดขาวชนิดสร้างสารภูมิคุ้มกันตานทานโรคให้กับร่างกาย)
MM เป็นมะเร็งที่พบได้น้อย เป็นมะเร็งของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุเฉลี่ย อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยพบได้น้อยกว่า 1% ในคนอายุต่ำกว่า 35 ปีลงมา พบเกิดในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิงเล็กน้อย ในสหรัฐอเมริกาพบโรคนี้ในผู้ชาย 7.2 รายต่อประชากรชาย 1 แสนคน และในผู้หญิงพบ 4.6 รายต่อประชากรหญิง 1 แสนคน
ประเทศไทย จากสถิติโรคมะเร็ง รายงานโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขที่รายงานเมื่อ 2015 (W. Imsamran et al.) โดยเป็นข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งทั่วประเทศไทยช่วงปี 2010-2012 พบโรคนี้ในผู้ชาย 0.1 รายต่อประชากรชาย 1แสนคน และในผู้หญิง 0.8 รายต่อประชากรหญิง1 แสนคน
ในสหรัฐอเมริกา คณะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ นำโดย นพ. Sikander Ailawadhi แพทย์อายุรกรรมมะเร็งวิทยา จากโรงพยาบาล Mayo Clinic, Jacksonville รัฐฟลอริดา ต้องการศึกษาถึงเรื่องทั่วไปของโรคMM เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคพบน้อย สิ่งที่คณะผู้ศึกษาต้องการทราบคือ วิธีรักษา และผลการรักษาว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่ในกลุ่มคนต่างเชื้อชาติกัน ที่รวมถึงระดับเศรษฐกิจและระดับการศึกษา ทั้งนี้ ผลการศึกษาได้รายงานในวารสารการแพทย์สหรัฐอเมริกาชื่อ Cancer เมื่อ 15เมษายน2018
การศึกษานี้ใช้ข้อมูลจากองค์กรที่รวบรวมข้อมูลโรคมะเร็งแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา(the Surveillance, Epidemiology, and End Results‐Medicare database, SEER)โดยเป็นข้อมูลผู้ป่วยช่วงปี 1991 ถึง 2010
ผลการศึกษาพบว่า ช่วงระยะเวลานี้ ทั้งสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วย MM ทั้งหมด35,842 ราย ผู้ป่วยผิวดำมักมีอาการทางคลินิกของMMครบทุกอาการ ส่วนผู้ป่วยผิวขาวมักมีกระดูกหักจากโรค
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ยารักษาตรงเป้า และมีการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้นวิธีรักษาที่ใช้บ่อยขึ้น คือ ยาที่เป็นสารปรับภูมิคุ้มกันร่างกาย และยาสเตียรอยด์
ผู้ป่วยผิวขาวและผิวดำมักได้รับยารักษาตรงเป้าและการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ส่วนผู้ป่วยชาวอเมริกากลาง (Hispanics) และชาวเอเซียมักได้รับยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกาย ซึ่งวิธีรักษาตามเชื้อชาตินี้ต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติ(P < 0.001) และการรักษาที่ได้รับส่งผลให้ค่าใช้จ่ายจากการประกันสุขภาพสูงขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะในหมู่ชาวอเมริกากลาง(P < 0.001)
ปัจจัยที่ทำให้การพยากรณ์โรค คือมีอัตรารอดจากโรคแย่ลงคือ การมีแคลเซียมในเลือดสูง ไตมีการทำงานผิดปกติ/ทำงานต่ำ และการเกิดกระดูกหักจากโรค และผู้ป่วยที่มีฐานะเศรษฐกิจที่ดีมีอัตราอยู่รอดจากโรคดีกว่า
ผู้ศึกษาสรุปว่า วิธีรักษา MM มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายที่ดีขึ้นเรื่อยๆรวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงขึ้น และจากการศึกษานี้ช่วยให้ได้ทราบถึงเหตุผลว่า ในสหรัฐอเมริกา ผลการรักษาMMในผู้ป่วยเชื้อชาติต่างๆแตกต่างกัน ซึ่งทำให้ต้องศึกษาเพิ่มเติมว่า เกิดจากเหตุผลใด
ในบ้านเรา วิธีรักษาและตัวยาต่างๆทุกกลุ่มที่รวมถึงการปลูกถ่ายสเตมเซลล์ในผู้ป่วยMMมีการนำมาใช้แล้ว ซึ่งวิธีรักษาMMมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่ยังไม่มีการศึกษาที่เจาะจงรายละเอียดว่า ผลการรักษาMMจะต่างกันไหมในด้าน เชื้อชาติ และเศรษฐกิจของผู้ป่วย
แหล่งข้อมูล:
- http://haamor.com/th/มัลติเพิลมัยอีโลมา/ [2018,Dec6]
- Cancer2018;124(8):1710‐21