เปรียบเทียบผลการรักษามะเร็งศีรษะและลำคอระหว่างใช้ยา Cisplatin ทุกสัปดาห์กับทุก 3 สัปดาห์
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 18 มีนาคม 2562
- Tweet
มะเร็งศีรษะและลำคอ หมายถึง โรคมะเร็งที่เกิดกับเยื่อเมือกของอวัยวะต่างๆในร่างกายที่อยู่ในส่วนของศีรษะและของลำคอ(ยกเว้น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งระบบโลหิตวิทยา มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน) ซึ่งโรคมะเร็งเหล่านี้จะมีธรรมชาติของโรคเหมือนกันที่รวมถึงวิธีรักษาและการพยากรณ์โรค และมะเร็งส่วนนี้ 80-90%จะเป็นเซลล์มะเร็งชนิด Squamous cell carcinoma (SCC) โดยมะเร็งกลุ่มนี้จะพบบ่อยในคนเอเซีย ซึ่งวิธีรักษาหลัก คือ การใช้รังสีรักษาร่วมกัยยาเคมีบำบัดในโรคระยะที่IIIและที่IVชนิดที่โรคจำกัดเฉพาะที่/ยังไม่แพร่กระจายทางกระแสโลหิต(IVAและIVB) ซึ่งยาเคมีบำบัดที่เป็นมาตรฐานคือ ยา Cisplatin(Cis) ในขนาดยาที่สูง ให้ทุก 3 สัปดาห์ แต่มีผู้ป่วยหลายคนที่ไม่สามารถทนต่อยาCisplatin ในขนาดยาที่สูงนี้ได้ แพทย์จึงปรับขนาดยาCisplatin ให้มีขนาดต่ำลงมากเพื่อผู้ป่วยสามารถทนยานี้ได้ แต่ความถี่ของการให้ยาฯในขนาดต่ำนี้จะปรับเป็นทุกสัปดาห์
แพทย์จึงต้องการทราบว่า การรักษามะเร็งศีรษะและลำคอชนิด SCC ในโรค ระยะที่IIIและที่IVชนิดที่โรคจำกัดเฉพาะที่/ยังไม่แพร่กระจายทางกระแสโลหิต(IVAและIVB) ด้วยรังสีรักษา+ยาCisplatinขนาดยาสูง(ให้ทุก3สัปดาห์) จะมีผลต่อ อัตราควบคุมโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ(Locoregional control) ระยะเวลาปลอดจากโรคลุกลาม(Progression free survival) อัตรารอดชีวิต(Overall survival) และอัตราเกิดผลข้างเคียง ต่างกันอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ ยาCisplatinขนาดยาต่ำ(ให้ยาทุกสัปดาห์)
การศึกษานี้ เป็นการศึกษาจากคณะแพทย์ ประเทศอินเดีย นำโดย พญ. Vanita Noronha แพทย์อายุรกรรมโรคมะเร็ง จาก รพ. Tata Memorial Centre และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์สหรัฐอเมริกา ชื่อ JCO ฉบับ 10เมษายน2018
การศึกษานี้ เป็นการศึกษาระยะที่III ศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอชาวอินเดียที่เป็นมะเร็งชนิด SCC ทั้งหมด 300 ราย ทั้งหมดเป็นผู้ป่วยโรคระยะที่IIIและที่IVชนิดที่โรคจำกัดเฉพาะที่/ยังไม่แพร่กระจายทางกระแสโลหิต(IVAและIVB)ทั้งหญิงและชาย ที่อายุต่ำกว่าหรือเท่ากับ70ปี ผู้ป่วยกลุ่มได้ Cis ขนาดสูง 150ราย เท่ากับผู้ป่วยกลุ่มได้Cisขนาดต่ำ 150รายเช่นกัน ซึ่งผู้ป่วยทั้งหมดเป็นผู้ป่วยช่วงปี 2003-2007 และติดตามผลการรักษาที่มัยฐานนาน22เดือน
ผลการศึกษาพบว่า
-อัตราควบคุมโรคย้อนกลับเป็นซ้ำที่2ปีของกลุ่มใช้Cisขนาดสูงเป็น 73.1% ส่วนของการใช้Cisขนาดต่ำเป็น58.5% ซึ่งต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติ (P = 0.014)
-ระยะปลอดโรคลุกลามในกลุ่มใช้Cisขนาดสูง มีมัธยฐานที่ 28.6 เดือน กลุ่มใช้Cisขนาดต่ำ มีมัธยฐานที่ 17.7เดือน (P = 0.21)ซึ่งต่างกัน แต่ยังไม่สำคัญทางสถิติ
-อัตรารอดชีวิตในกลุ่มใช้Cisขนาดสูงนานจนถึงเวลาที่แปลผลศึกษา ยังไม่ถึงมัธยฐาน ส่วนกลุ่มใช้Cisขนาดต่ำ คือ 39.5เดือน (P = 0.48) ซึ่งต่างกัน แต่ยังไม่ สำคัญทางสถิติ
-ผลข้างเคียงระดับรุนแรง ในกลุ่มใช้ Cisขนาดสูง คือ 84.6% กลุ่มใช้Cisขนาดต่ำ คือ 71.6% (P = 0.006) ซึ่งต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติ
คณะผู้ศึกษาได้สรุปผลการศึกษาว่า การใช้Cisขนาดสูง ยังคงควรเป็นการรักษามาตรฐานอยู่ในมะเร็งศีรษะและลำคอชนิดSCC โรคระยะที่IIIและIVชนิดที่โรคจำกัดเฉพาะที่/ยังไม่แพร่กระจายทางกระแสโลหิต(ระยะIVA, IVB) เพราะให้ผลควบคุมโรคเฉพาะที่ได้สูงกว่า ถึงแม้ผลข้างเคียงจะสูงกว่าก็ตาม
อนึ่ง ในประเทศไทย การรักษาหลักสำหรับ มะเร็งศีรษะและลำคอชนิดSCC โรคระยะที่IIIและIVชนิดที่โรคจำกัดเฉพาะที่/ยังไม่แพร่กระจายทางกระแสโลหิต(ระยะIVA, IVB) คือ ใช้รังสีรักษาร่วมกับยาCisplatinขนาดสูงเช่นกัน แต่แพทย์จะปรับใช้ Cisplatin ขนาดต่ำ หรือ ยาเคมีบำบัดตัวอื่นที่ผลข้างเคียงน้อยกว่าCisplatinขนาดสูง เช่น Carboplatin แทน ในกรณีสุขภาพผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงจากCisplatinขนาดสูงได้
แหล่งข้อมูล:
- JCO 2018,36(11): 1064-1072