คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การรักษามะเร็งเต้านมที่โรคย้อนกลับเป็นซ้ำที่เต้านม
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 11 มีนาคม 2562
- Tweet
การรักษามะเร็งเต้านมด้วยยาเคมีบำบัด และ/หรือยาฮอร์โมน(รักษาได้ผลเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่เซลล์มะเร็งจับฮอร์โมนที่มักเรียกทั่วไปว่า ER+) และ/หรือ ยารักษาตรงเป้า จะให้ผลการรักษาครอบคลุมได้ทั้งกรณีของโรคเฉพาะที่และ/หรือกรณีที่โรคลุกลามแพร่กระจาย ส่วนรังสีรักษาจะช่วยให้การควบคุมโรคเฉพาะที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งที่ตัวเต้านมเอง ต่อมน้ำเหลือง และ/หรืออวัยวะต่างๆ เช่น กระดูก สมอง โดยจะฉายรังสีเฉพาะในตำแหน่งที่เกิดรอยโรคเท่านั้น ไม่ครอบคลุมทั้งตัวเหมือนยาเคมีบำบัด ยาฮอโมน หรือยารักษาตรงเป้า
มะเร็งเต้านมระยะที่โรคยังไม่แพร่กระจายทางกระแสโลหิต การรักษามักเป็นการรักษาร่วมกันระหว่าง การผ่าตัด ยาเคมีบำบัด ยาฮอร์โมน รังสีรักษา และ/หรือยารักษาตรงเป้า ทั้งนี้ขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ตลอดจนความต้องการของตัวผู้ป่วยเอง
การรักษามะเร็งในปัจจุบันผลการรักษามีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก แต่อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า การรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบัน โรคมะเร็งมีโอกาสกลับเป็นซ้ำหลังครบการรักษาแล้ว หนึ่งในนั้น คือ การย้อนกลับเป็นซ้ำเพียงบริเวณเดียว คือ ที่เต้านม และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองรักแร้ และ/หรือต่อมน้ำเหลืองไหปลาร้า (Locoregional recurrence)นั่นเอง
แพทย์กลุ่มหนึ่งในสหรัฐอเมริกาต้องการทราบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยที่โรคย้อยกลับเป็นซ้ำที่ตำแหน่งเดียวนี้ และแพทย์สามารถผ่าตัดก้อนเนื้อที่ย้อนกลับเป็นซ้ำออกได้หมดจากการมองด้วยตาเปล่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้ ผลการรักษาจะเป็นอย่างไร ระหว่าง ผู้ป่วยที่”ได้ยาเคมีบำบัด(CT+)” และกลุ่มที่”ไม่ได้ยาเคมีบำบัด(CT-)” โดยผู้ป่วยทั้ง2กลุ่ม จะได้รับการรักษาวิธีการอื่นเพิ่มเติมเหมือนๆกัน คือ ถ้า ER+จะได้รับ ยาฮอร์โมนร่วมด้วย ถ้าHER2 +(3+)จะได้ยารักษาตรงเป้าร่วมด้วย และถ้าการตรวจทางพยาธิวิทยาจากกล้องจุลทรรศน์พบว่ายังมีรอยโรคเหลืออยู่หลังผ่าตัด จะได้รับการฉายรังสีที่รอยโรคนั้น
การศึกษานี้ เป็นการศึกษาจากคณะแพทย์สหรัฐอเมริกา นำโดย พญ. Irene L. Wapnir แพทย์ด้านโรคมะเร็งจากโรงพยาบาล Stanford Cancer Center โดยอยู่ในการศึกษามะเร็งเต้านมกลุ่มที่เรียกว่า The CALOR trial (Chemotherapy as Adjuvant for Locally Recurrent breast cancer) ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มศึกษา อยู่ในช่วง สิงหาคม 2003-มกราคม 2010 ผู้ป่วยทั้งหมด 162 ราย ได้ติดตามโรคนานที่มัธยฐาน 9 ปี และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ JCO ฉบับ 10เมษายน 2018
โดยกลุ่ม CT+ มีER- 29ราย และER+56ราย; กลุ่มCT- มีER-29ราย มีER+48ราย
ผลการศึกษาพบว่า
-ผู้ป่วย ER- ที่ได้ยาเคมีฯ มีอัตราปลอดโรค(DFS, Disease free survival)ที่10ปี ดีกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้ยาเคมีอย่างมีความสำคัญทางสถิติ p=0.13
-ผู้ป่วยER+ที่ได้ยาเคมีฯมีอัตรารอดชีวิต(Overall survival)ที่10ปีดีกว่าผู้ป่วยไม่ได้ยาเคมีฯแต่ยังไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ p=0.53
คณะผู้ศึกษาสรุปผลการศึกษาครั้งนี้ว่า การให้ยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีโรคย้อนกลับเป็นซ้ำเฉพาะที่(Isolated locoregional recurrence)ที่แพทย์สามารถผ่าตัดก้อนเนื้อที่ย้อนกลับเป็นซ้ำได้หมดดวยตาเปล่า เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มโรคที่ไม่มีตัวรับฮอร์โมน(ER-) แต่เคมีบำบัดไม่มีประโยชน์/ไม่มีประสิทธิภาพในผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่โรคมีตัวรับฮอร์โมน(ER+)
ทั้งนี้ ในประเทศไทยเรา แนวทางการรักษา ก็จะเช่นเดียวกับที่ใช้รักษาในThe CALOR trial เช่นกัน
แหล่งข้อมูล:
- http://www.ascopost.com/News/58584
- JCO 2018;36(11): 1073-1079 (abstract)