คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลของรังสีรักษาในเนื้องอกพังผืดชนิดรุกรานรุนแรง
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 20 ธันวาคม 2561
- Tweet
เนื้องอกพังผืดชนิดรุกรานรุนแรง(Aggressive fibromatosis) อีกชื่อคือ Desmoid tumor(เนื้องอกเดสมอยด์) คือเนื้องอกชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่มะเร็งของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน จัดเป็นโรคพบยาก เกิดได้ในทุกอายุ และในทุกเพศ และยังไม่ทราบสาเหตุ เกิดขึ้นได้กับเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของทุกอวัยวะ พบบ่อยที่ช่องท้อง แขน และขา โรคนี้ถึงแม้ไม่ใช่มะเร็ง/ไม่แพร่กระจายทางกระแสเลือดและระบบน้ำเหลือง แต่จะรุกรานรุนแรงเข้าไปยังเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียงจนก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆขึ้น โรคนี้มักไม่ทำให้เสียชีวิต อัตรารอดที่5ปีหลังการรักษาขึ้นกับ ขนาดก้อนเนื้อ, ก้อนเนื้อผ่าตัดออกได้ไหม, หรือเกิดในอวัยวะที่ส่งผลให้เกิดภาวะทุโภชนาจากกินอาหารทางปากไม่ได้(เช่น กรณีโรคเกิดกับอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร) ทั่วไปอัตรารอดที่ 5ปี อยู่ที่ประมาณ 50-100%
ทั้งนี้ การรักษาหลัก คือ การผ่าตัด แต่โรคมักย้อนกลับเป็นซ้ำหลังผ่าตัดได้สูงจากที่ธรรมชาติของโรครุกรานเข้าไปในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆที่อยู่ติดกับเนื้องอกนี้ การผ่าตัดออกให้หมดจึงทำได้ยากเมื่อก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ การรักษาวิธีอื่นๆที่ใช้ร่วมกับการผ่าตัด หรือใช้ในกรณีโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ หรือกรณีทำผ่าตัดไม่ได้ คือ การฉายรังสีรักษา การให้ยาฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจน การให้ยาแก้อักเสบNSAIDs การให้ยาเคมีบำบัด การจี้ก้อนเนื้อด้วยคลื่นไมโครเวฟ(Microwave ablation) การให้ยารักษาตรงเป้า
คณะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จากภาควิชารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา มหาวิทยาลัย University of Florida College of Medicine, Gainesville, Florida สหรัฐอเมริกาที่นำโดยแพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ชื่อ นพ. James E. Bates ต้องการทราบถึง ผลการรักษาเนื้องอกเดสมอยด์กลุ่มที่ผ่าตัดไม่ได้ หรือกลุ่มย้อนกลับเป็นซ้ำหลังผ่าตัดในโรงพยาบาลของตนด้วยรังสีรักษาว่าเป็นอย่างไร ซึ่งการศึกษานี้ได้รายงานในวารสารการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา ชื่อ International Journal of Radiation Oncology Biology and Physics ฉบับ วันที่ 15 มีนาคม 2018
การศึกษานี้เป็นการศึกษาย้อนหลัง ศึกษาผู้ป่วยเนื้องอกเดสมอยด์ 101รายที่ได้รับการรักษาด้วยรังสีรักษาในช่วงปี 1975-2015 ผู้ป่วยทั้งหมดเป็นผู้ป่วยที่ก้อนเนื้องอกฯผ่าตัดไม่ได้ หรือก้อนเนื้องอกฯย้อนกลับเป็นซ้ำ
ผลการศึกษาพบว่า อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยทั้งหมดที่5ปี คิดเป็น 98% และที่10ปีคิดเป็น95% และอัตราควบคุมก้อนเนื้อไม่ให้โตขึ้น(Local control)ที่5ปีคือ 82% และที่10ปีคือ 78% และยังพบว่า ผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า20ปีมีอัตราการควบคุมโรคได้ที่5ปีต่ำกว่าผู้ป่วยที่อายุมากกว่า40ปีอย่างมีนัยสำคัญ คือ 72%และ97%ตามลำดับ, p=0.009; ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีวันละ1ครั้ง มีอัตราควบคุมโรคได้ที่5ปีสูงกว่าผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีวันละ2ครั้งอย่างมีนัยสำคัญ คือ 90%และ73%ตามลำดับ,p=0.008 นอกจากนี้พบว่าผลข้างเคียงรุนแรงในระยะยาวจากรังสีรักษา ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบการฉายรังสีด้วยเทคนิคก้าวหน้ากับเทคนิคทั่วไป(p=0.02)
คณะผู้ศึกษา สรุปผลการศึกษาว่า การฉายรังสีรักษาผู้ป่วยเนื้องอกเดสมอยด์กรณีผู้ป่วย/ก้อนเนื้อผ่าตัดไม่ได้ ผ่าตัดออกไม่ได้หมด หรือโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ ให้ผลการควบคุมโรคที่ดี โดยผลการควบคุมโรคจะดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญในผู้ป่วยอายุมากกว่า 40ปีขึ้นไปเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยอายุต่ำกว่า20ปี ซึ่งอาจจากธรรมชาติของโรคนี้ในผู้ป่วยอายุต่ำกว่า20ปีดื้อต่อรังสีรักษามากกว่าโรคนี้ในคนที่อายุ40ปีขึ้นไป
การศึกษานี้ สนับสนุนว่า สามารถใช้รังสีรักษาเป็นวิธีหนึ่งเพื่อรักษาควบคุมเนื้องอกเดสมอยด์ที่ ผ่าตัดไม่ได้ ผ่าตัดออกได้ไม่หมด หรือย้อนกลับเป็นซ้ำ ซึ่งการรักษาด้วยรังสีรักษาเทคนิคก้าวหน้าขณะนี้มีใช้ทั่วไปในประเทศไทย สำหรับประชาชนในทุกสิทธิการรักษาตามดุลพินิจของแพทย์
แหล่งข้อมูล:
- International Journal of Radiation Oncology Biology&Physics 2018; 100(4): 997-1003(abstract)
- https://emedicine.medscape.com/article/1060887-overview#showall