คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: อาหารอะไรแสลงต่อโรคมะเร็ง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเราคุยกันในเรื่องของ อาหาร ว่าทำไมการศึกษาทางการแพทย์ถึงยังไม่สามารถบอกได้ว่า อาหารประเภทใดเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง วันนี้ เล่าต่อในเรื่องอาหารที่ ผู้ป่วยโรคมะเร็งและ/หรือครอบครัวผู้ป่วยสงสัยและมักจะถามแพทย์ พยาบาล คือ อาหารอะไรแสลงต่อโรคมะเร็ง หมอห้ามกินอะไรบ้าง ฉายแสงห้ามกินอะไร ให้เคมีบำบัด/ให้คีโม (คีโม ย่อมาจากคำในภาษาอังกฤษ ที่แปลว่า ยาเคมีบำบัด คือ Chemotherapy) ห้ามกินอะไร

“แสลง” จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายว่า ไม่ถูกกับโรค

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการศึกษาทางการแพทย์ชิ้นใด ที่สามารถยืนยันได้ว่า อาหารอะไรแสลงกับโรคมะเร็ง หรือโรคมะเร็งแสลงกับอาหารอะไร ทั้งนี้รวมถึง ขณะได้รับรังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด และ/หรือยารักษาตรงเป้า นั่นหมายความว่า ผู้ป่วยมะเร็ง สามารถกินอาหารได้ทุกประเภท โดยยึดหลักการศึกษาทางการแพทย์ที่ยืนยันว่า อาหารมีประโยชน์ทั้งในภาวะร่างกายปกติและภาวะเจ็บป่วย คือ อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ ได้แก่ โปรตีน แป้งและน้ำตาล (คาร์โบไฮเดรต) ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่/แร่ธาตุ ซึ่งวิตามิน เกลือแร่ เป็นสารอาหารที่สำคัญและจำเป็นก็จริง แต่ร่างกายต้องการในปริมาณเพียงเล็กน้อย ไม่มากเหมือนอาหารกลุ่มให้พลังงาน (โปรตีน แป้งและน้ำตาล และไขมัน) แต่ถ้ากินวิตามิน เกลือแร่ ในรูปแบบของอาหารเสริมในปริมาณสูงต่อเนื่อง อาจก่อผลข้างเคียงได้หลายรูปแบบ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เพราะร่างกายจะดูดซึมวิตามิน เกลือแร่ที่อยู่ในรูปแบบอาหารเสริมได้ในปริมาณสูงเกินร่างกายต้องการ แต่เมื่อเรากิน ผัก ผลไม้มากๆ เราจะได้วิตามิน เกลือแร่อย่างเพียงพอ และถ้าร่างกายได้รับเต็มที่แล้ว ร่างกายก็จะลดการดูดซึมลง จึงส่งผลให้ไม่เกิดผลข้างเคียงคะ

การกินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ได้ครบถ้วนในทุกวัน จะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ต่อเมื่อต้องควบคุมปริมาณอาหารที่ให้พลังงานด้วย เพื่อป้องกันภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน รวมทั้ง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งอาหารที่ต้องจำกัดเพราะจะทำให้เกิดทุโภชนาการดังกล่าว คือ -แป้ง น้ำตาล (ลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน) -ไขมัน (ลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดแดงแข็ง และ โรคหัวใจ) –อาหารเค็ม ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคหัวใจ แต่การกินผักผลไม้มากๆ นอกจากจะช่วยคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน และได้วิตามิน เกลือแร่ครบถ้วน โดยไม่มีผลข้างเคียง นอกจากนี้ ยังมีใยอาหารสูง ซึ่งจะช่วยลดอาการท้องผูก ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้ง ช่วงกำลังรักษาอยู่ ผู้ป่วยมะเร็งอาจกินอาหารไม่ค่อยได้ เบื่ออาหาร จึงกินอาหารได้จำกัดเฉพาะบางประเภท ดังนั้นไม่ต้องกลัวที่จะกินอาหารทุกประเภทที่ยังกินได้ เพราะจะกินได้ในปริมาณที่ไม่มากพอที่จะทำให้เกิดโรคดังกล่าวแล้วได้ ให้พยายามกินตามที่แพทย์ พยาบาลผู้รักษาดูแลแนะนำ ซึ่งเมื่อผ่านพ้นช่วงกินอาหารไม่ได้ไปแล้ว ค่อยกลับมาควบคุมประเภทอาหาร อีกครั้งคะ

อีกประการ ในระหว่างการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ฮอร์โมน หรือ ยารักษาตรงเป้า การกินวิตามิน เกลือแร่เสริมอาหาร หรืออาหารเสริมอื่นๆ รวมทั้งยาต่างๆ สมุนไพร และการรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือก การแพทย์สนับสนุน ควรต้องปรึกษาแพทย์ผู้ให้ยาเคมีบำบัดก่อนเสมอ เพราะตัวยา/สารเคมีต่างๆ อาจทำปฏิกิริยากัน จึงอาจเพิ่มโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยา และอาจลดประสิทธิภาพยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งลงได้

สรุป ยังไม่มีการศึกษาทางการแพทย์ที่พบว่า มีอาหารแสลงในโรคมะเร็ง เรื่องอาหารแสลงจึงเป็นเพียงความเชื่อคะ ดังนั้น ผู้ป่วยมะเร็งทุกคน การกินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสมที่ไม่ทำให้มีน้ำหนักตัวเกินและ/หรือโรคอ้วน จึงเป็นการกินอาหารที่ถูกต้องและให้ประโยชน์ทั้งต่อการรักษาและต่อการควบคุมโรคมะเร็งคะ