คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: การตรวจคัดกรองมะเร็งตับอ่อน

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

มะเร็งตับอ่อน เป็นมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็พบได้เรื่อยๆ เป็นมะเร็งที่รุนแรง เพราะโดยตำแหน่งของอวัยวะที่อยู่ลึก และเมื่อเริ่มเกิดโรคมักไม่มีอาการ ดังนั้นจึงทำให้โรคนี้วินิจฉัยได้ยาก เมื่อมีอาการ หรือวินิจฉัยได้ โรคมักเป็นระยะลุกลามมากแล้ว โดยเฉลี่ย ผู้ป่วยจึงมักมีอัตรารอดประมาณ 1-2 ปีหลังการรักษา

แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ชาติตะวันตก ได้พยายามหาปัจจัยเสี่ยงเฉพาะของโรคนี้ แต่ที่พบ คือ มักพบในคนอ้วน และเป็นเบาหวาน ซึ่งก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ต่างจากโรคมะเร็งชนิดอื่น นอกจากนั้น แพทย์และนักวิทยาศาสตร์อึกกลุ่มก็พยายามศึกษา หาสารมะเร็งในเลือดที่จะเป็นตัวใช้คัดกรองมะเร็งตับอ่อน เพราะจะเป็นการตรวจคัดกรองวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ ตรวจได้ง่าย ไม่มีผลข้างเคียงจากการตรวจ ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่สูง ไม่จำเป็นต้องตรวจโดยแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และค่าใช้จ่ายในการตรวจเข้าถึงได้ จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้ ซึ่งยังอยู่ในระดับเริ่มต้น ในสัตว์ทดลอง ในห้องปฏิบัติการ และในคนกลุ่มเล็กๆ นำมาเล่าให้รู้ว่า การศึกษาด้านโรคมะเร็งเพื่อจะให้ผลการรักษาดีขึ้น มีอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน จะได้ช่วยกันเป็นกำลังใจ ให้ผู้บุกเบิกการศึกษาวิจัยเหล่านี้

การศึกษานี้ รายงานใน วารสารด้านการแพทย์ ชื่อ Nature Medicine และเผยแพร่ล่วงหน้าทางอินเทอร์เนต เมื่อ 28 กันยายน 2014 เป็นการศึกษาจาก คณะนักวิทยาศาสตร์ จาก Dana-Farber Cancer Institute, the Massachusetts Institute of Technology สหรัฐอเมริกา นำโดย B. M. Wolpin

คณะผู้ศึกษา ได้ทำการศึกษาจากเลือดของผู้ป่วยที่เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 1,500 ราย และติดตามผลประมาณ 2-5 ปี โดยตรวจหาค่าสารต่างๆ ทั้งหมดประมาณ 100 ชนิดที่เคยมีรายงานว่าอาจจะสัมพันธ์กับมะเร็งตับอ่อน รวมทั้งโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Branched-chain amino acids (BCAAs) ที่การศึกษาจากหนูพบว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งตับอ่อน

ผลการศึกษาพบว่า ในกลุ่มคนที่เมื่อติดตามผลแล้วพบเป็นมะเร็งตับอ่อนในเวลาต่อมา มีโปรตีนชนิดนี้สูงกว่าในคนที่ไม่เป็นมะเร็งตับอ่อน 2 เท่า โดยในคนที่เป็นมะเร็งตับอ่อน โปรตีนนี้จะตรวจพบได้ก่อนที่จะวินิจฉัยพบว่าเป็นมะเร็งตับอ่อนนานถึง 2-5 ปี ซึ่งถ้าได้รับการศึกษาเพิ่มเติม และผลที่ได้รับยังยืนยันผลเดิม ก็น่าจะนำมาใช้ในการตรวจคัดกรองมะเร็งตับอ่อนได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ยังจัดว่า อยู่ในระดับเริ่มแรก ยังต้องการการศึกษาทดสอบให้ได้ความแม่นยำมากกว่านี้ โดยเฉพาะการศึกษาเพิ่มเติมในมะเร็งชนิดอื่นๆด้วยว่า โปรตีนตัวนี้ จะเจาะจงเฉพาะมะเร็งตับอ่อน หรือเซลล์มะเร็งของอวัยวะอื่น (เช่น ลำไส้ใหญ่ หรือปอด) ก็สามารถทำให้โปรตีนตัวนี้สูงขึ้นได้

ข่าวเล็กๆที่เป็นข่าวดี ก็เป็นข่าวที่ให้ได้ทั้งความฝัน และความหวังนะคะ

บรรณานุกรม

  1. http://www.nature.com/nm/journal/vaop/ncurrent/full/nm.3686.html [2015,May 16]