คุมได้ตามใจอยาก (ตอนที่ 9)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 3 เมษายน 2563
- Tweet
การใส่ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine Device = IUD) เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กรูปตัว T ทำจากวัสดุที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมน Progesterone หรือพลาสติกและทองแดง ใส่เข้าไปในมดลูก สามารถใช้งานได้นาน 5-10 ปี ขึ้นกับชนิด
ห่วงคุมกำเนิดบางอย่างประกอบด้วยฮอร์โมนที่ค่อยๆ ปลดปล่อยออกมาเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ ห่วงคุมกำเนิดสามารถใช้ในกรณีฉุกเฉินได้หากมีการใส่ห่วงคุมกำเนิดภายใน 5 วัน (120 ชั่วโมง) หลังจากที่มีเพศสัมพันธ์
ส่วนห่วงคุมกำเนิดที่มีสารทองแดงจะค่อยๆ ปลดปล่อยสารทองแดงเข้าสู่มดลูก ซึ่งสามารถใช้คุมกำเนิดได้ผลถึงร้อยละ 99 ในขณะที่ห่วงคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนสามารถใช้คุมกำเนิดได้ร้อยละ 99.8 สามารถใส่เข้าและถอดออกได้โดยแพทย์หรือพยาบาลผู้ชำนาญการ โดยหลังการถอดออกก็สามารถตั้งครรภ์ได้เลย
อย่างไรก็ดี การใส่ห่วงคุมกำเนิดอาจทำให้มีเลือดออกผิดปกติในช่วง 3-6 เดือนแรกของการใส่ และมีโอกาสในการติดเชื้อได้บ้างเล็กน้อย หรือมีโอกาสที่ห่วงคุมกำเนิดจะเคลื่อนที่หรือหลุดจากตำแหน่งเดิม นอกจากนี้ ห่วงคุมกำเนิดจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
และเนื่องจากห่วงคุมกำเนิดที่เคลื่อนที่หรือหลุดจากตำแหน่งเดิมอาจไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ จึงต้องใช้วิธีคุ้มกำเนิดอื่นช่วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัย และกรณีผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไปทำการใส่ห่วงคุมกำเนิด จะสามารถเอาห่วงนั้นออกได้หลังวัยหมดประจำเดือน
ส่วนกรณีที่มีการติดเชื้อจะมีลักษณะอาการดังนี้
- ปวดท้องน้อย
- มีไข้สูง
- มีกลิ่นเหม็นจากของเสียในช่องคลอด
ผู้หญิงส่วนใหญ่สามารถใส่ห่วงคุมกำเนิดได้รวมถึงผู้ที่ติดเชื้อเฮชไอวีด้วย แต่กรณีต่อไปนี้ควรหลีกเลี่ยง
- ผู้ที่คิดว่าตัวเองอาจตั้งครรภ์
- เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ยังไม่ได้รักษาหรือมีการติดเชื้อที่อุ้งเชิงกราน
- มีปัญหาเกี่ยวกับมดลูกหรือปากมดลูก
- มีเลือดออกมากระหว่างมีประจำเดือนหรือหลังการมีเพศสัมพันธ์
- ผู้ที่แพ้สารทองแดง หรือเป็นโรควิลสัน (Wilson's disease) ซึ่งทำให้ร่างกายผลิตทองแดงมากเกิน
สำหรับผู้หญิงที่เคยตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic pregnancy) หรือมีการใส่ลิ้นหัวใจเทียม ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
แหล่งข้อมูล:
- 9 types of contraception you can use to prevent pregnancy. https://www.health.qld.gov.au/news-events/news/types-contraception-women-condoms-pill-iud-ring-implant-injection-diaphragm [2020, April 2].
- Intrauterine device (IUD). https://www.nhs.uk/conditions/contraception/iud-coil/ [2020, April 2].
- Birth Control and the IUD (Intrauterine Device). https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/combination-birth-control-pills/about/pac-20385282 [2020, April 2].