คุมได้ตามใจอยาก (ตอนที่ 21)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 19 เมษายน 2563
- Tweet
วิธีการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด
- หากเป็นการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดครั้งแรก ให้เริ่มแปะในวันที่ 1-5 ของการมีประจำเดือนจะได้ผลทันที แต่หากแปะในวันอื่น ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นเสริมในช่วง 7 วันแรก เช่น ถุงยางอนามัย
- สามารถแปะแผ่นคุมกำเนิดได้ที่ก้น ต้นแขน ท้องน้อย หรือส่วนบนของร่างกาย แต่อย่าแปะบริเวณเต้านมหรือบริเวณที่จะถูกเสียดสี เช่น บริเวณสายยกทรง
- แปะในบริเวณที่สะอาด ปราศจากโลชั่น ครีม แป้ง หากผิวหนังเป็นผื่นให้แกะออกและแปะแผ่นใหม่ในบริเวณใหม่
- แกะซองด้วยความระมัดระวัง อย่าให้ฉีกโดนแผ่นแปะ ดึงแผ่นกาวออกเล็กน้อยแล้ววางบนบริเวณที่แปะ แล้วจึงค่อยดึงแผ่นกาวออกให้หมด รูดขอบแผ่นให้แนบสนิทกับผิว และกดแผ่นแปะไว้ด้วยฝ่ามือประมาณ 10 วินาที
- ปล่อยแผ่นแปะคุมกำเนิดไว้นาน 7 วันตลอดเวลา (ไม่ต้องแกะออกแม้เวลาอาบน้ำ ว่ายน้ำ หรือออกกำลังกาย) แล้วจึงค่อยเปลี่ยนแผ่นใหม่ในวันเดิมของแต่ละสัปดาห์ (เช่น ทุกวันพุธ) เป็นเวลา 3 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยแปะในบริเวณจุดที่ต่างกันเพื่อไม่ให้ผิวเกิดการระคายเคืองมาก
- เว้นการแปะในสัปดาห์ที่ 4 หลังจากนั้นจึงแปะแผ่นใหม่ในสัปดาห์ถัดไปแม้ว่าจะยังคงมีประจำเดือนอยู่
- กรณีแผ่นหลุดไม่ถึง 24 ชั่วโมง อาจติดแผ่นแปะคุมกำเนิดเดิมให้เข้าที่หรือเปลี่ยนแผ่นใหม่ ห้ามใช้อุปกรณ์อื่นช่วยในการทำให้แผ่นติดอยู่กับที่ เช่น พลาสเตอร์หรือผ้าพันแผล
- กรณีหลุดมานานกว่า 24 ชั่วโมง หรือไม่ทราบเวลาแน่ชัด ให้เปลี่ยนแผ่นใหม่ทันที โดยเริ่มนับเป็นวันแรกที่ใช้ และปรับกำหนดการเปลี่ยนแผ่นถัดไปตามวันดังกล่าวใหม่ทั้งหมด นอกจากนั้น ควรใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นเสริมในช่วง 7 วันหลังจากเปลี่ยนแผ่นใหม่ด้วย
- เพื่อให้การใช้งานมีประสิทธิผล กรณีมีข้อสงสัยให้ปรึกษาแพทย์
ทั้งนี้ แผ่นแปะคุมกำเนิดไม่เหมาะกับบุคคลดังต่อไปนี้
- คิดว่าตัวเองอาจตั้งครรภ์
- อยู่ระหว่างการให้นมบุตรที่อายุน้อยกว่า 6 สัปดาห์
- อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
- มีประวัติการเจ็บหน้าอกหรือภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง
- มีประวัติหลอดเลือดอุดตัน (Blood clots)
- มีประวัติโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก หรือมะเร็งตับ
- มีน้ำหนักมากกว่า 90 กก.
- มีโรคตับหรือไมเกรนชนิดมีอาการเตือน (Migraines with aura)
- เป็นโรคเบาหวานที่มีอาการแทรกซ้อนเกี่ยวกับไต ตา เส้นประสาท หรือหลอดเลือด
- มีเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เคยเป็นดีซ่านระหว่างการตั้งครรภ์หรือหลังการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมน (Hormonal contraceptives)
- มีการผ่าตัดใหญ่และไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
- อยู่ระหว่างการกินยารักษาโรคลมชัก วัณโรค หรือเชื้อเฮชไอวี หรือกินอาหารเสริมสมุนไพร
- แพ้ส่วนประกอบในแผ่นแปะคุมกำเนิด
แหล่งข้อมูล:
- Birth control patch. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/birth-control-patch/about/pac-20384553 [2020, April 18].
- Contraceptive patch - Your contraception guide. https://www.nhs.uk/conditions/contraception/contraceptive-patch/ [2020, April 18].