คิดใหม่ ตอน คนไข้เข้าใจผิด เป็นความผิดของใคร
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 16 กรกฎาคม 2564
- Tweet
การให้คำแนะนำการดูแลตนเองควบคู่ไปกับการทานยารักษาโรคประจำตัวเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง การปฏิบัติตัวที่ไม่ถูกต้อง จะนำไปสู่การรักษาที่ไม่ได้ผล และอาจเกิดผลแทรกซ้อนได้ ดังตัวอย่าง
ผู้ป่วยโรคลมชักอายุ 70 ปี ทานยากันชัก ชื่อ ไดแลนติน แพทย์สั่งให้ทานยา 3 เม็ดก่อนนอน และได้แนะนำว่ายาที่ทานนั้นเป็นยากันชัก ต้องทานทุกวัน ไม่ควรหยุดยาเอง หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยมานอนรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการซึมลง ปลุกไม่ตื่น ตรวจร่างกายพบ ตากระตุก (nystagmus) ซึมมาก ไม่ยอมลืมตา แพทย์สงสัยภาวะยากันชักไดแลนตินเกินระดับ ซึ่งผลการตรวจวัดระดับยากันชักไดแลนติน ก็สูงเกินระดับจริงๆ เมื่อสอบถามหาสาเหตุจากผู้ป่วยว่าทำไมระดับยาถึงเกินขนาด ทานยากันชักถูกวิธีหรือไม่ จึงได้รู้ว่าผู้ป่วยทานยากันชักไดแลนตินครั้งละ 3 เม็ดถูกต้อง แต่ผู้ป่วยนอนวันละ 3 ครั้ง คือช่วงสาย บ่าย และนอนตอนกลางคืน จึงทานยากันชักวันละ 3 ครั้ง ทำให้ระดับยาเกินขนาด ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติข้างต้น
จากเหตุการณ์นี้ถ้าเรามาทบทวนการให้คำแนะนำกับผู้ป่วยอย่างเหมาะสมจริงๆ เราคงต้องอธิบายให้ละเอียด และต้องมีการประเมินว่าผู้ป่วย ญาตินั้นเข้าใจถูกต้องตามที่ควรจะเป็นหรือไม่ เราต้องคิดใหม่ คิดทบทวน ดังนี้
1. แพทย์ หรือเภสัชกรผู้ให้คำแนะนำนั้น คงต้องรู้ว่าผู้ป่วยนอนวันละกี่ครั้ง เพราะคนทั่วไปก็นอนวันละครั้งตอนกลางคืน แต่ผู้สูงอายุอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้ทำงานนั้น ก็อาจนอนวันละหลายครั้ง ถ้าทานยาก่อนนอน ก็ต้องอธิบายให้ชัดเจนว่าทานยาก่อนนอนนั้น คือ ทานยาก่อนนอนกลางคืนเท่านั้น ไม่ใช่ทานยาก่อนนอนช่วงเวลากลางวันด้วย
2. การให้คำแนะนำที่เหมาะสมในผู้สูงอายุนั้น ควรให้คำแนะนำร่วมกับญาติผู้ดูแลด้วยทุกครั้ง เพราะผู้สูงอายุเองอาจมีปัญหาด้านความจำ ความเข้าใจ การมองเห็น การได้ยิน ซึ่งอาจนำมาสู่การปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ทานยาไม่ครบ ไม่ถูกต้อง เป็นต้น
3. การให้คำแนะนำที่ดีนั้น ต้องมีการทบทวนคำแนะนำ เพื่อประเมินว่าผู้ป่วย ญาติมีความเข้าใจคำแนะนำ การปฏิบัติที่เราแนะนำนั้นถูกต้องหรือไม่ และสามารถทำตามคำแนะนำได้หรือไม่ ไม่ใช่เพียงแค่แนะนำแล้ว ก็ถือว่าเพียงพอ เพราะผู้ป่วย ญาติแต่ละคนอาจมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ไม่ถูกต้องก็ได้ และผลเสียที่เกิดขึ้นอาจรุนแรงมากกว่าที่เราจะคาดคิดได้
4. โรงพยาบาลควรมีศูนย์ประสานงาน กรณีที่ผู้ป่วยหรือญาติมีข้อสงสัยต่างๆ จะได้ขอคำปรึกษา ขอทราบแนวปฏิบัติที่ถูกต้องได้ เสมือนคอลเซนเตอร์ของบริษัทเอกชนต่างๆ ที่มีไว้บริการลูกค้าในการติดต่อสอบถาม หรือแจ้งซ่อมต่างๆ ได้
5. การให้คำแนะนำที่ดีนั้น ถ้ามีเอกสารประกอบคำแนะนำ และตัวอย่าง รวมทั้งความใจผิดที่พบบ่อยร่วมด้วย ก็น่าจะทำให้ผู้ป่วย ญาตินั้นมีความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้น ลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
6. โรงพยาบาลควรปรับทัศนคติว่า การบริการที่ดีนั้นจะนำไปสู่การดูแลสุขภาพของประชาชนที่ดียิ่งขึ้น ดังนั้น การจัดตั้งศูนย์ประสานงานเหมือนคอลเซ็นเตอร์ของบริษัทเอกชน ก็น่าจะเป็นการบริการที่ครบวงจร เพื่อให้ผู้ป่วย และประชาชนสามารถเข้าถึงระบบบริการ และการดูแลตนเองที่เหมาะสมได้มากยิ่งขึ้น
ทุกครั้งที่มีความผิดพลาดเกิดขึ้น ผมจะพยายามกลับมามองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เราสามารถแก้ไขอะไรได้บ้าง เราสามารถทำอะไรให้ดีกว่านี้ได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำแบบเดิมอีก ผมจึงอยากให้ทุกคนกลับมาคิดใหม่ คิดทบทวนเสมอ ในทุกเหตุการณ์ที่มีความผิดพลาดเกิดขึ้น