คิดใหม่ ตอน คนไข้มารักษาที่ห้องฉุกเฉินมาก
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 13 กรกฎาคม 2564
- Tweet
ผู้ป่วยมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลของรัฐมีเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดเรื่องราวต่างๆ ในสังคมมากมากมาย เช่น ความแออัดของห้องฉุกเฉิน การรอคอยคิวการรักษาที่ยาวนาน ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ได้รับการรักษารวดเร็ว เพราะมีผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินมารับการรักษาจำนวนมาก คนไข้ไม่ฉุกเฉินเข้าใจว่าใครมาก่อนต้องได้รับการรักษาก่อน ความเหนื่อยล้าของทีมผู้ให้การรักษา และอาจเกิดความผิดพลาดของการรักษาที่ไม่ได้ตั้งใจ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ถ้ามองจากมุมของผู้ให้การรักษาของแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล รวมทั้งผู้บริหารโรงพยาบาล หรือกระทรวงสาธารณสุข ก็พยายามหาสาเหตุว่าทำไมถึงมีผู้ป่วยมารับการรักษาจำนวนมากที่ห้องฉุกเฉิน ก็พอจะแยกแยะกลุ่มผู้ป่วยที่มารับการรักษาได้ ดังนี้
1. ผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินมารับบริการจำนวนมาก เกือบร้อยละ 50 เป็นผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน แต่ทำไมผู้ป่วยเหล่านี้ถึงมารักษาที่ห้องฉุกเฉิน ถ้าไม่มารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน ผู้ป่วยเหล่านี้จะสามารถรับการรักษาได้ที่ไหน ต้องคิดครับ
2. ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติมาหลายวัน แต่เพิ่งมารับการรักษา แล้วทำไมถึงเพิ่งมารับการรักษา น่าคิดครับ
3. ผู้ป่วยมาขอรับยา เพราะยาที่ใช้รักษาประจำหมด ทำไมถึงไม่มารับยาตามนัด น่าสงสัยครับ
4. ผู้ป่วยมาขอฉีดวัคซีน เพราะไม่สะดวกมาในเวลาราชการ แล้วทำไมไม่สะดวกในเวลาราชการ เราเกิดความสงสัยครับ
5. ผู้ป่วยมีอาการเพียงแค่เล็กน้อย ซื้อยาทานเองก็ได้ หรือนอนพักก็หาย ทำไมต้องมาหาหมอที่ห้องฉุกเฉินด้วย น่าคิดครับว่าถ้าผู้ป่วยรู้ว่าอาการผิดปกติที่ตนเองเป็นนั้น ดูแลเบื้องต้นเองได้ ปลอดภัย อาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยเหล่านั้นจะมาหาหมอ รอหมอตรวจนานๆ หลายชั่วโมงหรือไม่
แล้วถ้าเปลี่ยนจากห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลรัฐบาล เป็นห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลเอกชน วิธีการคิดเราจะยังเหมือนเดิมหรือไม่ หรือเราจะมองตรงกันข้ามว่าทำอย่างไรให้มีผู้ป่วยมารับการรักษามากๆ เพื่อให้ธุรกิจมีผลกำไรมากขึ้น อย่างที่ผมเกริ่นตั้งแต่ต้นว่าเราลองกลับมาคิดใหม่ คิดทบทวน ลองให้เราไปเป็นคนไข้หรือญาติคนไข้บ้าง เราจะทำอย่างไรเมื่อเราเจ็บป่วย เราจะมาที่ห้องฉุกเฉินนอกเวลาราชการหรือไม่ ผมว่าน่าคิดครับ ผมอยากรู้จริงๆ ครับว่าทำไมผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยถึงเลือกที่จะมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินนอกเวลาราชการของโรงพยาบาลรัฐ ทั้งๆ ที่รู้ว่าต้องรอนาน แออัด อาจได้รับการรักษาจากแพทย์เวรเท่านั้น หรือแม้กระทั่งจากพยาบาลเวชปฏิบัติ ไม่ได้พบแพทย์เฉพาะทางหรือผู้เชี่ยวชาญใดๆ สิ่งที่ผู้ให้การรักษา ผู้บริหารโรงพยาบาล หรือระบบสาธารณสุขต้องกลับมาคิดทบทวน คิดใหม่ว่าทำไมผู้ป่วยถึงต้องมารับการรักษา และจะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยเหล่านั้นได้รับการรักษาที่เหมาะสม ถ้าไม่ให้ผู้ป่วยเหล่านั้นมาที่ห้องฉุกเฉิน ผมลองคิดทบทวน คิดใหม่ ได้ดังนี้
1. โรงพยาบาลต้องเปิดบริการตรวจรักษาผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน หรือผู้ป่วยนอก (โอพีดี) นอกเวลาราชการ เพื่อให้ผู้ป่วยที่ไม่มีความพร้อมในการรักษาในเวลาราชการ คือ เปิดบริการโอพีดีนอกเวลาราชการ ส่วนจะคิดค่าบริการเพิ่มขึ้นหรือเปล่านั้น ก็ต้องมาดูให้ดีว่าโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ แล้วพอจะมีงบประมาณสนับสนุนได้หรือไม่ โรงพยาบาลจะสามารถจัดระบบบริการที่ลดการให้บริการในเวลาราชการส่วนหนึ่ง เพื่อมาบริการนอกเวลาราชการได้หรือไม่ น่าลองคิดดูครับ ขอร้องว่าอย่าเพิ่งบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ลองคิดแล้วทำดูก่อนครับ
2. โรงพยาบาลควรทำแบบสอบถามและสัมภาษณ์เชิงลึก เพื่อหาสาเหตุที่ผู้ป่วยมารับบริการรักษาที่ห้องฉุกเฉินในกรณีผู้ป่วยนั้นไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน เพื่อให้การพัฒนาระบบบริการนั้นตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยและญาติได้ ต้องทำการศึกษาอย่างจริงจังครับ เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม มากกว่าจะมากล่าวหาผู้ป่วยว่าไม่เคารพกติกาของระบบการบริการ
3. โรงพยาบาลควรให้ความรู้กับผู้ป่วย หรือผู้มารับบริการว่า อาการแบบไหน อย่างไรที่ควรมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินเพื่อเป็นการพัฒนาระบบบริการ และการให้ความรู้กับผู้มารับบริการอย่างตรงประเด็นและตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยการให้ความรู้นั้นควรให้ภายหลังจากให้การรักษาครั้งนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อลดความขัดแย้ง และเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ป่วยกับทีมผู้ให้การรักษา
4. โรงพยาบาลควรมีระบบบริการการฉีดวัคซีน การเปลี่ยนอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ เช่น สายสวนปัสสาวะ สายให้อาหารทางจมูก การทำแผล ตัดไหม และอื่นๆ ที่มีความจำเป็นกับผู้ป่วย ต้องทำเรื่องนี้ให้ได้
5. โรงพยาบาลควรมีระบบการให้คำแนะหรือระบบการปรึกษาปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย เพื่อให้ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปสามารถดูแลสุขภาพได้อย่างเหมาะสม ลดการมาใช้บริการของโรงพยาบาล และเพิ่มความสามารถการดูแลตนเองได้เป็นอย่างดี การพัฒนาระบบการให้ความรู้นี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การย้อนมาคิดทบทวน คิดใหม่เพื่อแก้ปัญหาเดิมๆ ที่เกิดขึ้นมานานมากแล้วให้สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ และพัฒนาระบบบริการที่ดี เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยแบบยั่งยืนต่อไป